ดีแทค และเทเลนอร์กรุ๊ป เผยผลสำรวจการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ยังพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง พบ 59% ของเด็กไทยไม่ไว้ใจพ่อแม่รับฟังปัญหา
ดีแทค ร่วมกับ เทเลนอร์กรุ๊ป เผยผลสำรวจเพื่อร่วมรณรงค์ในช่วงสัปดาห์ของ Safer Internet day วันรณรงค์ใช้อินเทอร์เน็ตปลอดภัยโลก เรื่องผลกระทบที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเด็กไทย พบว่ากำลังเผชิญหน้าการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbully) ภัยเงียบที่กำลังคุกคามและเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและถูกพูดถึงมากที่สุด โดยพบว่า 59% ของเด็กไทยไม่ไว้ใจพ่อแม่ ใช้วิธีเก็บตัว แก้แค้นแทนหากโดนกลั่นแกล้งบนออนไลน์ พร้อมประกาศนำโครงการ Safe Internet สร้างสังคมชาวเน็ต หยุดรังแก ข่มเหง ทำร้ายกันบนโลกออนไลน์ ตั้งเป้าทำกิจกรรมลดปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ดีแทค มีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการเป็นบริษัทที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งโครงการหลักเราทำมาอย่างต่อเนื่องคือ โครงการ Safe Internet การใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์
โดยมุ่งเน้นปูพื้นฐานให้ความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างถูกต้องให้กับเด็กและเยาวชนเป็นหลัก สอดคล้องกับสถิติในภาพใหญ่ของประเทศไทยที่พบว่ามีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงถึง 75% และมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากที่สุดถึง 54.2 ชั่วโมง /สัปดาห์ (เกือบ 8 ชั่วโมงต่อวัน) และด้วยเหตุนี้ ดีแทค และเทเลนอร์กรุ๊ป จึงได้ทำผลสำรวจเป็นประจำทุกปี และจะทำการเผยแพร่ในช่วงสัปดาห์ของ Safer Internet day วันรณรงค์ใช้อินเทอร์เน็ตปลอดภัยโลก
เพื่อชี้เห็นถึงสภาวการณ์ปัจจุบันและร่วมรณรงค์ให้ความรู้ ความเข้าใจและพฤติกรรมการใช้งานบนโลกออนไลน์ของเด็กไทยที่จะนำไปสู่การพัฒนาแนวทางแก้ไขและป้องกัน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูอาจารย์สามารถนำไปใช้สอนและแนะนำเด็กได้อย่างถูกต้อง โดยครั้งนี้เป็นผลการทดสอบจากเด็กจำนวนทั้งสิ้น 1,336 คน อายุระหว่าง 12-18 ปี ซึ่งอยู่ในหัวเมืองหลัก พบว่า เด็กไทยกำลังเผชิญภัยคุกคามบนโลกออนไลน์ที่หลากหลายโดยเฉพาะเรื่องการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying)
- 33% ของเด็กไทยมีประสบการณ์ของการเป็นทั้งผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งหรือก่อกวนบนโลกออนไลน์ จากคนที่ไม่รู้จัก และหรือจากคนที่รู้จักซึ่งเป็นคนเดียวกับที่แกล้งอยู่ในโลกของความเป็นจริง และในขณะเดียวกันเด็กเหล่านี้ก็กลับเป็นผู้กลั่นแกล้งคนอื่นบนโลกออนไลน์โดยปิดบัง ไม่เปิดเผยชื่อจริงในการใช้อินเทอร์เน็ต
- 35% ของเด็กไทย จะถูกสิ่งเร้าต่างๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะกับเว็บไซด์ที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ อาทิ เกมอันตราย หรือเว็บอนาจาร ที่เต็มไปด้วยคำก้าวร้าวและหยาบคาย ซึ่งจะเข้าไปดูและเกิดพฤติกรรมเลียบแบบ
- 59% ของเด็กไทย จะรู้สึกว่าตนเองสามารถแก้ปัญหาหรือเผชิญหน้ากับความเลวร้ายบนโลกออนไลน์นี้ได้ด้วยตัวเอง หรือจะปรึกษาเพื่อนเป็นอันดับแรก
ในขณะที่มีตัวอย่างกรณีศึกษาที่จะชี้ให้เห็นว่า การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ของเด็กไทยเป็นภัยใกล้ตัวที่น่าวิตกมาก โดยเป็นบทสัมภาษณ์เด็กชายทอม (นามสมมุติ) อายุ 12 ปี (ที่มา: เรื่องพฤติกรรมการข่มเหงรังแกกันบนโลกไซเบอร์ของนักเรียนชั้นประถม 4-6 ของนางสาวชัชฎาภรณ์ พรมนอก นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหิดล ปีพ.ศ. 2558)
ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นโดยมีคนเอารูปจากกล้องวงจรปิดหรือกล้องโทรศัพท์ เป็นภาพตอนที่เด็กชายทอมกำลังอาบน้ำ เป็นภาพเปลือยจากด้านหลังโพสต์อยู่บนหน้าเฟซบุ๊กของเด็กชายทอมเอง ขณะเล่าเด็กชายทอมร้องไห้ไปด้วย และพยายามตามสืบว่าคนโพสต์เป็นใคร เมื่อตามสืบไปในเฟซบุ๊กของคนโพสต์ก็ไม่มีข้อมูลมีแต่รูปเป็นผู้ชายหันหลัง เมื่อได้ส่งข้อความไปหาคนโพสต์ก็ได้รับข้อความตอบกลับมาว่า “เดี๋ยวลบให้” เด็กชายทอมตัดสินใจไม่บอกใคร เก็บตัว ไม่เล่นเฟซบุ๊ก
มีความกลัวว่าเขาจะนำภาพนี้ไปทำให้เสียชื่อเสียงด้วยวิธีอื่น ๆ คนที่เชื่อใจมากที่สุดคือเพื่อนสนิท เพื่อนแนะนำว่าให้ปิดเฟซบุ๊กที่ใช้อยู่แล้วไปสมัครใหม่ ไม่แนะนำให้ไปบอกผู้ใหญ่เพราะกลัวว่าผู้ใหญ่ทราบเรื่องแล้วจะไปแจ้งตำรวจเดี๋ยวจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว เด็กชายทอมมีอาการฝันร้ายฝันถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตกใจตื่นกลางดึก หลังจากที่คุยปรึกษาเพื่อนก็พยายามลืมเรื่องราวนี้ไปแต่ก็ลืมไม่ได้ คิดว่าถ้าทราบว่าเป็นใครก็จะบอกพ่อแต่ไม่กล้าบอกตอนนี้ และยังเกิดความระแวงกลัวว่าจะมีอุปกรณ์อะไรติดตั้งไว้ในห้องน้ำอีกหรือไม่ หลังจากนั้นเด็กชายทอมก็ได้เข้ามาปรึกษานักจิตวิทยาที่โรงเรียนเป็นระยะ ๆ
จากกรณีข้างต้น จะพบว่าปัญหาเรื่องของการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) จะเป็นปัญหาที่เด็กไทยเผชิญอยู่และมีอัตราการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นมหันตภัยเงียบที่เด็กอาจจะทำหรือโดนกระทำอย่างไม่รู้ตัว ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ปัญหาที่สามารถลดลงได้นั่นคือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ตลอดจนครูอาจารย์ ซึ่งจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจถึงพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็ก และคอยสอดส่องดูแล สร้างพื้นที่ความไว้วางใจให้เกิดขึ้นกับเด็ก
สำหรับดีแทคเอง ในฐานะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตชั้นนำ เราก็พร้อมเป็นองค์ความรู้และช่องทางให้กับทั้งพ่อแม่และครูอาจารย์ โดยในปีนี้เราจะเน้นพัฒนาบริการและทำกิจกรรมต่างๆอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อให้เกิดการมีส่วนรวมในการทำสังคมอินเทอร์เน็ตให้ปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ได้ผลอย่างแท้จริง
Leave a Reply