dtac เชื่อมั่น! คลื่น 2300 MHz จะให้บริการได้ทั้งดาต้าและวอยซ์บนเทคโนโลยี 4G LTE
dtac เผยความคืบหน้าร่างสัญญาจริงพันธมิตรคลื่น 2300 MHz ร่วมกับ TOT ต้องลงลึกเรื่องค่าตอบแทนให้ชัดเจน คาด TOT นำเข้าบอร์ดภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ จากนั้นจะส่งให้ กสทช. สคร. และอัยการสูงสุดตรวจ มั่นใจให้บริการบนเทคโนโลยี 4G LTE ย่อมให้บริการทั้งดาต้า และวอยซ์ได้ ยึดโมเดลบีเอฟเคที เชื่อไร้ปัญหาเพราะกฎหมายการันตีแล้วว่าไม่ผิด ฟันธงไม่เกินสิ้นปีเซ็นสัญญาจริงแน่
นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ dtac กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการลงรายละเอียดของร่างสัญญาจริงในการเป็นพันธมิตรให้บริการคลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz ระหว่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัทในเครือ dtac เพื่อไม่ให้มีปัญหาภายหลัง
โดยเฉพาะการคิดค่าเช่าโครงข่ายที่บริษัท เทเลแอสเสท จำกัด เป็นคนดำเนินการ เช่น กรณีที่ dtac ไม่สามารถใช้เสาสัญญาณได้ครบตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ หรือการที่ dtac มีการใช้งานคลื่นความถี่เกินจากที่ตกลงกันไว้ในเบื้องต้น กรณีต่างๆ จะมีการตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายกันอย่างไร
จากนั้นเมื่อการหารือเสร็จสมบูรณ์ คาดว่าจะสามารถนำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท TOT ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.นี้ จากนั้นจึงจะส่งตัวสัญญาให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานอัยการสูงสุด ตามลำดับ เพื่อพิจารณาความถูกต้องครบถ้วนของสัญญา ทั้งนี้ dtac ยังเชื่อมั่นว่า การลงนามในสัญญาจะสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปี 2560
ส่วนกรณีที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.ออกมาให้ข้อสังเกตในการให้บริการว่าบริการ 2300 MHz จะไม่สามารถออกแพกเกจรวมบริการด้านเสียง (วอยซ์) และข้อมูล (ดาต้า) เนื่องจาก TOT ในฐานะผู้ถือครองคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. นั้น ตนมองว่าคลื่น 2300 MHz สามารถนำมาใช้บนเทคโนโลยี 4G LTE ดังนั้น ย่อมสามารถให้บริการได้ตามความสามารถของเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้งานดาต้าเพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สาย และ VoLTE เพื่อเพิ่มคุณภาพเสียงในการโทร.เป็นแบบ HD ในกรณีดังกล่าวจึงไม่น่ามีปัญหาแต่อย่างใด
อีกประเด็นที่ กสทช. ให้ความกังวลคือ เรื่องโรมมิ่งว่าจะไม่เป็นตามมาตรา 46 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.กสทช.นั้น ส่วนตัวมองว่ารูปแบบการให้บริการของ dtacเหมือนกับเอ็มวีเอ็นโอรายอื่นที่มีอยู่ในตลาดมากกว่า 10 โอเปอเรเตอร์ ดังนั้น จึงไม่น่าจะเป็นประเด็นอะไรที่น่ากังวลเช่นกัน
นายนฤพนธ์ย้ำว่า dtac ใช้วิธีเดียวกับกรณีบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือกลุ่ม ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ทำการติดตั้งโครงข่ายโทรศัพท์มือถือในระบบ 3G HSPA บนคลื่นความถี่ 850 MHz ให้แก่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เช่าเพื่อนำความจุมาขายส่งบริการให้บริษัทเรียลมูฟขายต่อแก่ลูกค้า
เนื่องจากเล็งเห็นว่าโมเดลดังกล่าวมีการชี้ชัดแล้วว่าไม่ผิดกฎหมาย โดย TOT จะดำเนินการในลักษณะการหาพันธมิตรในการช่วยขยายโครงการโมบายของตัวเองโดยการสร้างสถานีฐานนั้นก็สรุปแล้วว่าdtacจะเป็นคนจัดหา หรือสร้างสถานีฐานให้ใหม่ จำนวน 20,000 แห่ง และก็ให้ผลตอบแทนปีละ 4,510 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นการทำสัญญาในรูปแบบการหาพันธมิตรในลักษณะเดียวกับบีเอฟเคทีทุกประการ
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ manager
Leave a Reply