CAT เปิดใช้เคเบิลใต้น้ำ APG รองรับทราฟฟิกพุ่งสูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
CAT เปิดใช้งานเคเบิลใต้น้ำระบบใหม่ APG พร้อมแบนด์วิดท์รองรับคอนเทนต์ระดับโลก เดินหน้าสร้างฐานธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย คาดแนวโน้มความต้องการแบนด์วิดท์อีก 3 ปีข้างหน้าโตอีก 6 เท่า พร้อมเผยปีหน้า CAT Internet Gateway เล็งขยายวงจรขนาด 100 Gbps รายแรกของประเทศไทย
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานตลาดและการขาย บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) เปิดเผยว่า จากการที่ CAT ได้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมระหว่างประเทศและอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ผ่านระบบเคเบิลใต้น้ำ ซึ่งเป็นระบบสื่อสัญญาณที่สามารถส่งผ่านข้อมูลได้รวดเร็วด้วยเสถียรภาพที่สูงกว่าระบบสื่อสัญญาณอื่นๆ โดยปริมาณ Internet Bandwidth ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศของผู้ใช้บริการรวมมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีปัจจัยหลักๆ มาจากจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการขยายฐานการให้บริการของผู้ให้บริการ Content รายใหญ่ อาทิ Google, Youtube, Facebook, Microsoft และ Akamai เข้ามาในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ที่ประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น รวมไปถึงการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจและการค้าในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ พม่า ลาว กัมพูชา ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ที่มีความต้องการใช้งาน Internet Bandwidth เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดย CAT ได้มีการวางแผนพัฒนาระบบเคเบิลใต้น้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อประสิทธิภาพในการรองรับการใช้งานทั้งปัจจุบันและอนาคต และล่าสุดได้เปิดใช้งานเคเบิลใต้น้ำระบบใหม่ Asia Pacific Gateway (APG) ที่มีระบบการจัดสร้างด้วยมาตรฐานระดับสูง เพื่อตอบสนองการใช้งานอินเทอร์เน็ตและสื่อสารข้อมูลในภูมิภาคเอเชียอย่างมีเสถียรภาพ
ระบบเคเบิลใต้น้ำ APG มีความยาวโดยประมาณ 10,900 กม. เชื่อมต่อตรงจากประเทศไทยไปยังประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ไต้หวัน จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และฮ่องกง ใช้เทคโนโลยีทันสมัยสามารถขยายแบนด์วิดท์ด้วยความเร็วในการรับส่งข้อมูลมากกว่า 54 เทราบิตต่อวินาที (Tbps) หรือมากกว่า 54 ล้านเท่าของความเร็ว 1 เมกะบิตต่อวินาที (Mbps) ซึ่งเป็นความจุแบนด์วิดท์สูงสุดกว่าทุกระบบที่ใช้งานอยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน และเป็นจุดเด่นของระบบ APG ที่เพิ่มขีดความสามารถรองรับปริมาณข้อมูลที่หนาแน่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ APG ยังเพิ่มศักยภาพรองรับการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างประเทศร่วมกับเคเบิลใต้น้ำระบบต่างๆ ที่ใช้งานอยู่เดิม ทำให้ CAT ปัจจุบันมีระบบเคเบิลใต้น้ำที่ใช้งานรวม 6 ระบบและเป็นผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมระหว่างประเทศรายเดียวที่เชื่อมโยงจากประเทศไทยไปยังทุกภูมิภาคของโลก ซึ่งสามารถให้บริการอย่างมีศักยภาพ ตอบสนองการใช้งานในยุคที่มีความคับคั่งของข้อมูลบนแอปพลิเคชันที่หลากหลาย โดยเฉพาะการเปิดใช้ APG จะต่อยอดศักยภาพร่วมกับระบบ AAG (Asia America Gateway) ที่ CAT ได้จัดสร้างก่อนหน้านี้ ซึ่งจะเพิ่มเสถียรภาพโครงข่ายสื่อสารระหว่างประเทศในภาพรวมของไทยและเอื้อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอินเทอร์เน็ตของภูมิภาค โดยสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและดึงดูดผู้ประกอบการ Content ต่างๆ จากต่างประเทศให้เข้ามาในประเทศไทยเพื่อสร้างเป็น Internet Hub ในการกระจายข้อมูลให้กับผู้ใช้บริการในภูมิภาคต่อไป
“การเป็นผู้เชื่อมโยงเครือข่ายระดับภูมิภาคจะยกระดับภาพลักษณ์การเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของไทยในระดับนานาชาติ ซึ่งเครือข่ายดังกล่าวยังสนับสนุนและสอดรับกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลข องประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการพัฒนาสังคมสู่สมาร์ตซิตี้ ซึ่งอนาคตจะมีการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆผ่านอินเทอร์เน็ต (IoT) เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้ต้องการระบบเคเบิลใต้น้ำที่มีศักยภาพสามารถเชื่อมโยงข้อมูลความเร็วสูง เพื่อการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้า ทำให้การเชื่อมต่อ IoT มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีขยายตัวในการใช้งานออกไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว”
ทั้งนี้ CAT ได้เตรียมรับมือกับแนวโน้มความต้องการแบนด์วิดท์สำหรับการสื่อสารข้อมูลและอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยที่คาดว่าจะเพิ่มจาก 3 เทราบิตต่อวินาที เป็น 15 -20 เทราบิตต่อวินาที หรือเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 6 เท่าภายใน 3 ปีข้างหน้า โดยภายในปีหน้าบริการ CAT Internet Gateway จะเริ่มเปิดให้บริการวงจรเชื่อมโยงความเร็วสูงขนาด 100 Gbps ต่อพอร์ต เชื่อมต่อโดยตรงกับผู้ให้บริการ Content รายใหญ่ในต่างประเทศ ผ่านระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศหลากหลายระบบที่ CAT ได้ร่วมลงทุน ได้แก่ APG, AAG และ SEA-ME-WE 4 (Southeast Asia-Middle East- Western Europe 4 ) ซึ่งจะเพิ่มเสถียรภาพ และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการให้บริการดังกล่าวจะทำให้ CAT Internet Gateway เป็นผู้ให้บริการรายแรกของไทยที่มีการเชื่อมโยงแบบ Nx100 Gbps ผ่านระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศภายในปี 2560
Leave a Reply