เสวนาในหัวข้อ ASEAN Digital Gateway เป็นการต่อยอดมาจากการแถลงนโยบายของ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที และแนวคิดของ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อหาแนวทางที่จะร่วมกันทำให้ประเทศไทยเป็น Digital Gateway ในระดับอาเซียนให้สำเร็จตามแผน ซึ่งการเสวนาครั้งนี้ DigitalNext 9ThaiPhone ลงพื้นที่ทำข่าวจริง เพียงเว็บไซต์เดียวในไทยที่เป็นเว็บไซต์ด้านอุปกรณ์สื่อสาร
ศุภชัย เจียรวนนท์ กล่าวว่า รัฐบาลกำลังผลักดันไทยก้าวเป็นดิจิตอลฮับของภูมิภาค ซึ่งอุตสาหกรรมโทรคมนาคมถือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้มีความก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศและเป็นผู้นำของกลุ่มประเทศ ในอาเซียน โครงข่ายที่ครอบคลุมจะทำให้ Content Provider เข้ามาลงทุนในไทย พฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดียของคนไทย อาทิ เฟซบุ๊ก ไลน์ กูเกิ้ล การสตรีมมิ่งวีดีโอ และยูทูป ที่สูงมากในอันดับต้น ๆ ของโลก จะเป็นแรงดึงดูดให้เกิดการลงทุนในประเทศไทย การสร้างเกตเวย์เชื่อมต่อประเทศ หรือการวางโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ ซึ่งสมาคมฯ ก็พร้อมจะสนับสนุนและร่วมมือกับรัฐบาลอยู่แล้ว
ผู้ร่วมเสวนา
1. ศุภชัย สัจไพบูลย์กิจ
รองนายกสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TFIT)
2. คุณประสงค์ เรืองศิริกูลชัย
อุปนายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ Executive Director NTT Communication (Thailand) Co., Ltd.
3. ดร.อภิรักษ์ ปรีชญสมบูรณ์
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักพัฒนา Fixed Line และ Broadband บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
4. สุวิทย์ อารยะวิไลพงศ์
ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานบริหารผลิตภัณฑ์ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส
5. ดร.สุรพันธ์ เมฆนาวิน
กรรมการ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
6. ประเทศ ตันกุรานันท์
รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด
7. ดร.อธิป อัศวานันท์
รองผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์และนโยบาย บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และ เลขาธิการ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
8. ดำเนินการเสวนาโดย ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการ โครงการความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์กับภาคอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการบริหาร สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
สรุปสาระสำคัญจากผู้ร่วมเสวนาแต่ละราย
TOT
TOT ได้วางโครงข่าย Fixed Broadband และ Fiber ครอบคลุมทุกชุมชนถึงระดับตำบลเรียบร้อยแล้ว 100% จึงมีความพร้อมเต็มที่สำหรับให้บริการภายในประเทศ พร้อมเข้าถึงครัวเรือน แต่ในส่วนของการเป็น Digital Gateway ที่ต้องเชื่อมต่อผ่าน Submarine Cable ออกไปยังต่างประเทศ ยังจำเป็นต้องขยายเส้นทางเพิ่มเติม ทั้งฝั่งขวา (สงขลา) และฝั่งซ้าย (สตูล) ของประเทศ
CAT
จำเป็นต้องดึง Content Provider (เช่น facebook และ Google) เข้ามาอยู่ในไทยให้ได้มากที่สุด โดย Bandwidth ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันคือ 0.5 Tbps (จากทั้งประเทศ รวมใช้งานอยู่ที่ 1.9 Tbps) CAT ยังเหลืออีก 13 Tbps ที่คาดว่าเพียงพอกับการใช้งานในอนาคตได้อีก 3-5 ปีข้างหน้า เมื่อไทยได้เป็น Digital Gateway แล้ว Content Provider ยอดนิยมก็ตั้งอยู่ในไทยแล้ว เชื่อว่าทราฟฟิคจะลดลง ไม่ต้องดึงข้อมูลจากต่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบัน ทุกคนใช้งาน facebook เป็นจำนวนมาก ทำให้ทราฟฟิคดึงข้อมูลมาจาก Data Center ที่สิงคโปร์สูงมากตลอดเวลา เมื่อ facebook มาตั้ง Data Center ในไทย ก็ไม่ต้องดึงข้อมูลข้ามประเทศ ได้ความเร็วที่มากกว่า รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ให้บริการอีกด้วย (จ่ายตามปริมาณ Bandwidth)
AIS
AIS เปลี่ยนจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ มาเป็น Digital Service Provider แล้ว โดยเล็งเห็นว่า 3 องค์ประกอบ ได้แก่ Device + Network + Application ที่มีความพร้อม จะทำให้ลูกค้าใช้งาน Data มากขึ้น ลูกค้ากว่า 40 ล้านเลขหมายใช้สมาร์ทโฟนแทนโทรศัพท์มือถือแบบปุ่มกด (Feature Phone) ลูกค้าเกินครึ่ง ใช้งานทั้ง Voice + Data บนเครือข่าย AIS ที่มีความพร้อมและครอบคลุมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้ง AIS 4G Advanced และ AIS Fibre ซึ่งแอปพลิเคชั่นที่ดี ก็ส่งผลให้มีการใช้งาน Data มากขึ้นด้วยเช่นกัน จึงมีความสำคัญไม่แพ้เรื่อง Device กับ Network AIS จึงสนับสนุน Startup ให้มีการจัดประกวดกับนานาประเทศในกลุ่ม Singtel ทั้งหมดนี้จึงมองเห็นเป็นภาพว่า AIS มีความพร้อมไปสู่ Digital Gateway และผลักดันให้ผู้คนใช้ประโยชน์จาก Big Data บนอินเทอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อย ๆ
dtac
dtac ได้ทำ CSR เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนในพื้นที่ชนบทใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น อธิบายให้เข้าใจว่าอินเทอร์เน็ตช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ได้จริง โดยเฉพาะการเพิ่มผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรไทย ก็ส่งผลให้มีการใช้งาน Data มากขึ้นบนเครือข่าย dtac 3G/4G
True
ทรูย้ำให้เห็นภาพว่า เมื่อผู้คนเปิดใช้แอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ก็จะดึงข้อมูลจากต่างประเทศ ซึ่งทราฟฟิคมากกว่า 80% เป็นการดึงมาจาก Data Center ที่สิงคโปร์ ชี้ให้เห็นว่าไทยขาดดุลและเงินไหลออกไปยังสิงคโปร์ตามปริมาณทราฟฟิค ทั้งนี้เหตุผลหลักที่ Content Provider ยอดนิยมไม่มาตั้ง Data Center ในไทย เพราะโครงสร้างพื้นฐานในไทยที่ล้าสมัยกว่า และกฎหมายไทยที่เป็นอุปสรรคอย่างมาก เช่น พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 13 ที่ระบุว่า ผู้ให้บริการ Content หรือ Data Center จะต้องร่วมรับผิดชอบเมื่อมีการกระทำผิดตาม พรบ. นั้น สมมุติว่ามีการโพสต์ข้อมูลหมิ่นหรือใส่ร้ายกันบน facebook เจ้าของ facebook จะต้องรับโทษด้วย ทำให้เลือกที่จะตั้ง Data Center ในสิงคโปร์แทน เมื่อคนไทยซื้อโฆษณาบน facebook ก็ชำระเงินเป็นสกุลต่างประเทศ ก็ไม่สามารถเก็บภาษีได้ ไม่มีการจัดตั้งนิติบุคคลในไทย กฎหมายไทยควบคุมสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไม่ได้ เพราะข้อมูลอยู่ในต่างประเทศ ทำได้เพียงแค่จำกัดการเข้าถึงหรือ Block ไม่ให้คนไทยเข้าถึงนั่นเอง ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัลฮับ Content ภาษาไทยสำหรบคนไทย ก็ควรอยู่บน Network ประเทศไทย
NTT
NTT ชี้ว่า ถ้าอยากให้ Content Provider มาตั้ง Data Center ในไทย ก็จะต้องลดค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ปัจุจุบันไทยมีราคาสูงกว่าสิงคโปร์ 4 เท่า และมี Data Center ที่ผ่านการ Qualify จนไว้วางใจได้ ยิ่งในอนาคต จะมีบริการ Content ความละเอียดสูงระดับ 4K ผ่านสมาร์ททีวี ก็ยิ่งทำให้มีการใช้ Bandwidth ดึง Content จากต่างประเทศสูงขึ้นอีก ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นเพราะคิดตามปริมาณ Bandwidth ที่เชื่อมต่อกับต่างประเทศ
TFIT
สมาคมสมาพันธ์ฯ เห็นว่า เมื่อผู้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายและรู้จักใช้อินเทอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์ ขจัดข้อกฎหมายที่ไม่เอื้อให้นักลงทุนหรือ Content Provider มาตั้ง Data Center ในไทยได้สำเร็จ เมื่อไทยได้เป็นศูนย์กลางข้อมูล ทราฟฟิคก็ไหลเข้ามาที่ไทย รายได้เข้าประเทศอีกมากมาย อย่างที่สิงคโปร์กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน
สรุปแนวทางจากการเสวนาครั้งนี้
เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ปีนี้ กระทรวงไอซีที ได้รับอนุมัติงบประมาณสูงขึ้นเป็น 2 หมื่นล้านบาท แต่การที่จะเป็น ASEAN Digital Gateway ได้สำเร็จ ทุกฝ่ายจะต้องร่วมหารือกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ แบ่งบทบาทร่วมกันทำระหว่างภาครัฐและเอกชน เร่งแก้ปัญหาอุปสรรคด้านกฎหมายที่ขัดแย้งกับโลกดิจิทัล ก็จะมี Startup ไทยเกิดขึ้นอีกมากมาย ไม่ต้องไปตั้งสำนักงานหรือศูนย์กลางข้อมูลในต่างประเทศ ค่าบริการวงจรเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับต่างประเทศที่ต้องลดราคาให้ต่ำลงจนแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ส่งผลดีกับ Operator และคนไทยทั้งชาติ Content Provider ก็ได้รับประโยชน์เต็ม ๆ จนผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจควบคู่กับระบบ Logistic ที่ทันสมัย (โครงการรถไฟฯ 2 ล้านล้านบาทที่อนุมัติไปแล้ว) ทั้งนี้โครงข่ายเคเบิ้ลใต้น้ำหรือ Submarine Cable ก็จะต้องขยาย Bandwidth และเพิ่มเส้นทางให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีกตามภาพข้างล่างนี้
ภาพ : ADSLThailand.com
เรื่อง : DigitalNext Blogger
Leave a Reply