แจงยิบ!! AIS และ TrueMove H ชี้แจงกรณีคิดค่าโทรเป็นวินาที ทำผู้ใช้งานเสียประโยชน์

แจงยิบ!! AIS และ TrueMove H ชี้แจงกรณีคิดค่าโทรเป็นวินาที ทำผู้ใช้งานเสียประโยชน์

590714smartphone_for_web

รายงานข่าวจาก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS แจ้งว่า AIS ขอชี้แจงกรณีที่ภายในสัปดาห์นี้ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะประชุมเพื่อพิจารณาคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย ตามมติกทค. เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ว่า บริษัทฯ น้อมรับมติกทค. และจะปฏิบัติตามอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่บริษัทฯ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณาในที่ประชุมกทค. ดังนี้

1.การคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย บนคลื่นความถี่ 2100, 1800 และ 900MHz บริษัทฯ ประเมินว่า ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 70-80 ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะบริษัทฯ มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องยกเลิกการส่งเสริมการขายที่เป็นแพ็คเกจ และโปรโมชั่นเหมาจ่ายในปัจจุบัน

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้นำอัตราค่าบริการตามอัตราที่กสทช. กำหนดมาใช้ในการคำนวณได้แก่ คลื่น 2100MHz หรือ 3G คิดค่าบริการนาทีละ 82 สตางค์ จะหารออกมาเป็นวินาทีละ 1.37 สตางค์ คลื่น 1800 และ 900MHz หรือคลื่น 4G กสทช. กำหนดให้คิดต่ำกว่า นาทีละ 69 สตางค์ หรือสูงสุดได้ไม่เกินนาทีละ 68 สตางค์

บริษัทฯ นำมาหารเฉลี่ยแล้วตกวินาทีละ 1.13 สตางค์ การคิดอัตราค่าบริการเป็นวินาที เพียงทางเดียวเช่นนี้ บริษัทฯ เชื่อว่ามีผลกระทบต่อผู้บริโภคที่เลือกแพ็คเกจหรือโปรโมชั่นในราคาเหมาจ่าย เพราะยิ่งโทรนานเท่าไหร่ ผู้บริโภคจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น

2. บริษัทฯ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในการจัดประชุมหารือกลุ่มย่อย ในเรื่องแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งคลื่น 4G และคลื่น 3G ซึ่งสำนักงาน กสทช.จัดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 โดยบริษัทฯ ยืนยันว่าแนวทางเหมาะสมที่สุด คือ คิดอัตราค่าบริการโทรตามจริงเป็นวินาทีและการคิดเป็นเหมาจ่าย ผู้บริโภคได้เลือกใช้ตามความจำเป็น ถ้าผู้บริโภคต้องการใช้บริการที่คิดอัตราค่าโทรตามจริงเป็นวินาที บริษัทฯ พร้อมยินดีสนับสนุน

3. บริษัทฯ ยืนยันพร้อมปฏิบัติตามมติกทค. ทุกประการ แต่หากมติดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค และอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดยรวม คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมและกลุ่มที่เรียกร้องให้กทค. ยืนยันใช้มติวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ดังเดิมต้องแสดงความรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้น

ด้านบริษัท TrueMove H คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า ตามที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะจัดประชุมเพื่อพิจารณาคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย ตามมติกทค. เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 นั้น บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TrueMove H พร้อมจะปฎิบัติตามมติกทค.ทุกประการ แต่ขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้

1. การคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย บนคลื่นความถี่ 2100, 1800 และ 900MHz บริษัทฯ คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 70-80 ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะบริษัทฯ อาจมีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องยกเลิกแพ็กเกจและโปรโมชั่นเหมาจ่ายที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน บริษัทฯจะนำอัตราค่าบริการตามอัตราที่กสทช. กำหนดมาใช้ในการคำนวณ ได้แก่ คลื่น 1800 และ 900MHz หรือคลื่น 4G กสทช. กำหนดให้คิดต่ำกว่านาทีละ 69 สตางค์ หรือสูงสุดได้ไม่เกินนาทีละ 68 สตางค์ บริษัทฯ หารเฉลี่ยแล้วตกวินาทีละ 1.13 สตางค์ ส่วนคลื่น 2100MHz

หรือ 3G คิดค่าบริการนาทีละ 82 สตางค์ จะหารออกมาเป็นวินาทีละ 1.37 สตางค์ ซึ่งการคิดอัตราค่าบริการเป็นวินาที เพียงทางเดียวเช่นนี้ บริษัทฯ ประเมินว่าส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่เลือกบริการโทรนานๆ แต่เสียค่าบริการในราคาเหมาจ่ายเพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ไม่สอดคล้องกลไกตลาดและการแข่งขันเสรีในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

2. บริษัทฯ ยื่นอุทธรณ์ขอให้กทค. และ กสทช. พิจารณาทบทวนมติดังกล่าว ทั้งยังเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในการจัดประชุมหารือกลุ่มย่อย ในเรื่องแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งคลื่น 4G

และคลื่น 3G สำนักงาน กสทช.จัดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 โดยเห็นว่าแนวทางที่เหมาะสม ควรปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกการแข่งขันของตลาด โดยให้มีทั้งการคิดอัตราค่าบริการตามจริงเป็นวินาที และการคิดเป็นเหมาจ่าย เพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้ตามความจำเป็น

3. บริษัทฯ ยินดีปฏิบัติตามมติกทค. ทุกประการ แต่หากมติดังกล่าวมีผลกระทบต่อผู้บริโภค และอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดยรวม คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมและกลุ่มที่เรียกร้องให้กทค. ใช้มติวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 จะต้องแสดงความรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้น

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ matichon