ดีแทคและเทส-แอม จับมือจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นระบบ เสริมกลไกรัฐในการบริหารจัดการมลพิษ
บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ร่วมมือกับบริษัท ทีอีเอส.เอเอ็มเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด หรือเทส-แอม เดินหน้าโครงการ Think Smart รณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ นำโทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่เสื่อมสภาพ และอุปกรณ์เสริม เช่น หูฟังหรืออะแดปเตอร์ มาทิ้งที่กล่องรับซึ่งดีแทคจัดเตรียมไว้ โดยดีแทคจะรวบรวมและจัดส่งให้เทส-แอม ไปกำจัดหรือรีไซเคิลอย่างถูกวิธีและปลอดภัย
ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2558 จัดทำโดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่า ของเสียอันตรายชุมชนเกิดขึ้นจำนวน 591,127 ตัน แบ่งเป็น ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Waste from Electrical and Electronic Equipment: WEEE) 384,233 ตัน (ร้อยละ 65) และของเสียอันตรายประเภทอื่นๆ จากชุมชน เช่น แบตเตอรี่ หลอดไฟ ภาชนะบรรจุสารเคมี อีก 206,894 ตัน (ร้อยละ 35) สำหรับการจัดการของเสียอันตรายชุมชน มีการส่งเสริมให้จังหวัดหาพื้นที่เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมของเสียอันตรายชุมชน คัดแยก เก็บรวบรวม และส่งไปกำจัดในสถานที่กำจัดอย่างถูกต้อง โดยในปี 2558 มีศูนย์รวบรวมของเสียอันตรายชุมชนของจังหวัด 83 แห่ง สามารถเก็บรวบรวมของเสียอันตรายชุมชนได้ 42 แห่ง รวม 250 ตัน และส่งไปกำจัดแล้ว 174 ตัน
ปริมาณ WEEE ที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่มาจากบ้านเรือนทั่วไป ประชาชนกว่าร้อยละ 50 ขาย WEEE เมื่อไม่ใช้แล้ว ที่เหลือเก็บรวบรวมไว้ทิ้งปนกับขยะมูลฝอยทั่วไปและให้ผู้อื่น การขาย WEEE นี้ รวมไปถึงการแลกคืนเพื่อใช้เป็นส่วนลดในการซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยแม้ว่ายังมีจำนวนน้อย ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นคือ การทิ้งปะปนและการจัดการ WEEE โดยผู้รับซื้ออย่างไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดโรดแมพเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายได้อย่างยั่งยืน ผลักดันให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนแม่บทบริหารจัดการขยะมูลฝอย (พ.ศ.2559 – 2564) พร้อมมุ่งส่งเสริมภาคเอกชนที่ดำเนินงานระบบเก็บรวบรวม ขนส่ง และกำจัดของเสียอันตราย โดยดีแทค เป็นผู้นำร่องเรื่องการรณรงค์ให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือคัดแยกขยะ ไม่ทิ้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เสื่อมสภาพซึ่งถือเป็นของเสียอันตรายปนกับขยะทั่วไป เพื่อช่วยลดรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) ซึ่งจะส่งผลให้เกิดมลพิษต่อระบบนิเวศและมนุษย์
นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค กล่าวว่า “ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจำนวน 83 ล้านเลขหมาย โดยทั่วไป โทรศัพท์มือถือมีวงจรชีวิตสั้นกว่า 2 ปี แบตเตอรี่มีวัฏจักรชีวิตของการชาร์จที่ 200 รอบ หรือ 1 ปี 4 เดือน นอกจากนั้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังส่งผลต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสนองตอบความต้องการและรูปแบบการใช้งานใหม่ๆ รวมถึงราคาของสมาร์ทโฟนที่ต่ำกว่า 10,000 บาท ง่ายต่อการตัดสินใจซื้อ ยอดขายสมาร์ทโฟนจึงเพิ่มขึ้นร้อยละ 47 โดยมีจำนวนถึง 22 ล้านเครื่อง ในปี 2558 โดยผู้บริโภคอาจลืมนึกถึงการจัดการผลิตภัณฑ์เก่าที่ไม่ต้องการ และซากของผลิตภัณฑ์ที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุ”
“ดีแทคได้ดำเนินโครงการ ‘Think Smart’ มาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี เพื่อแสดงความรับผิดชอบในฐานะที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยได้ตั้งจุดรับทิ้งโทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่ และอุปกรณ์เสื่อมสภาพ เช่น หูฟังหรืออะแดปเตอร์ ที่สำนักงานบริการลูกค้าของดีแทค และองค์กรพันธมิตรต่าง ๆ จำนวน 120 แห่ง เพื่อคัดแยกขยะ จัดเก็บ และส่งให้เทส-แอมไปกำจัด หรือรีไซเคิลอย่างถูกวิธีและปลอดภัย จนถึงปัจจุบัน ปริมาณขยะที่ดีแทค รวบรวมและนำส่งไปจัดการมีจำนวนมากกว่า 1.5 ล้านชิ้น ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 18.87 ล้านกิโลกรัม พร้อมกันนั้น ยังได้จัดแคมเปญให้ความรู้แก่ลูกค้า ประชาชนทั่วไป ร่วมสร้างหัวใจที่ดูแลใส่ใจและตระหนักเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ดีแทคยังพร้อมสนับสนุนร่างกฎหมายที่กำกับดูแลการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นการเฉพาะ เพื่อให้เกิดระบบการจัดการซากผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ” นางอรอุมากล่าวเพิ่มเติม
นายลุค เบอร์นาร์ดุส สโคลเตอ แวน มาสท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีอีเอส.เอเอ็มเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด หรือเทส-แอม กล่าวว่า “กลุ่มบริษัทเทส-แอม ให้บริการรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นบริษัทแห่งแรกในเอเชียที่ได้รับ R2 Certificate จากสหรัฐอเมริกา รับรองว่าได้มาตรฐานในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ยังได้รับมาตรฐาน ISO 9001, ISO 14001, OHSAS 18001 และ ISO/IEC 27001:2013 เมื่อดีแทครวบรวมโทรศัพท์และอุปกรณ์เสื่อมสภาพส่งให้ เทส-แอมจะนำไปสกัดโลหะมีค่า ถือเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ต้องสกัดโลหะเหล่านั้นจากการขุดเหมืองแร่ และยังเป็นการลดรอยเท้าคาร์บอน เนื่องจากการนำโทรศัพท์มือถือกลับมารีไซเคิล 1 เครื่องนั้น จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อนได้ 12.585 กิโลกรัมอีกด้วย”
Leave a Reply