เช็คด่วน!! พฤติกรรมเข้าข่ายเป็น Nomophobia โรคขาดมือถือไม่ได้
เราคงจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามือถือสมาร์ทโฟนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สำคัญได้อย่างรวดเร็ว หรือจะเป็นการติดต่อสื่อสารที่สะดวกยิ่งขึ้น รวมถึงการตอบสนองทางด้านความบันเทิงและสังคมด้วย
แต่หากใช้งานมือถือสมาร์ทโฟนมากเกินไปอาจป่วยเป็นโรค Nomophobia (โนโมโฟเบีย) ซึ่งมาจากคำว่า no mobile phone phobia ที่ถูกบัญญัติขึ้นในปี 2010 ใช้เรียกอาการที่เกิดจากความหวาดหวั่น วิตกกังวลเมื่อขาดมือถือเพื่อติดต่อสื่อสารไม่ได้ และอาการนี้นับเป็นอีกอาการที่ถูกเสนอให้เป็นโรคจิตเวชประเภทหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มวิตกกังวล
จากการวิจัยที่ได้ทำการศึกษาผู้ใช้มือถือสมาร์ทโฟนเป็นจำนวน 2,163 คน ในประเทศอังกฤษ พบว่าร้อยละ 53 ของผู้ใช้งานจะเกิดอาการวิตกกังวลเมื่อพบว่ามือถือสมาร์ทโฟนของตัวเองหาย แบตเตอรี่หมด หรืออยู่ในที่ที่ไม่มีสัญญาณ และอีกร้อยละ58 ของผู้ชาย และร้อยละ 47 ของผู้หญิงที่ใช้มือถือจะมีอาการของ Nomophobia
นอกจากนี้ยังพบอีกว่ามีผู้ใช้งานถึงร้อยละ 9 ในกลุ่มที่ศึกษาระบุว่าตนเองเครียดมากหากมือถือของตนใช้งานไม่ได้ และเมื่อให้ผู้ที่ถูกสัมภาษณ์ระบุถึงระดับของความเครียดจากการขาดโทรศัพท์มือถือนั้น พบว่าความเครียดที่เกิดขึ้นเทียบเท่ากับความเครียดที่เกิดก่อนวันแต่งงาน หรือความเครียดระดับเดียวกับที่ไปพบทันตแพทย์เลยทีเดียว
และอีกการศึกษาหนึ่งที่ทดสอบกับนักศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพเพศชายจำนวน 547 คน พบว่าร้อยละ 23 มีพฤติกรรมอยู่ในเกณฑ์ที่จะถูกวินิจฉัยได้ว่าเป็น Nomophobia และอีกร้อยละ 64 มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดอาการนี้ แต่ที่น่าสนใจคงจะเป็นร้อยละ 77 ของเด็กในกลุ่มที่ถูกทำการวิจัยจะเช็คมือถือของตัวเองอยู่บ่อยครั้ง เฉลี่ยแล้วมากถึงวันละ 35 ครั้งทีเดียว
และจากการวิจัยดังกล่าวระบุว่าโรค Nomophobia พบมากสุดในกลุ่มคนช่วงอายุ 18 – 24 ปี โดยคิดเป็นร้อยละ 77 รองลงมาคือกลุ่มคนในช่วงอายุ 25 – 34 ปี และกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 55 ปี ตามลำดับ
อาการของผู้ที่เสี่ยงจะเป็นโรค Nomophobia
– พกโทรศัพท์ติดตัวตลอดเวลา ต้องวางไว้ใกล้ตัวเสมอ รู้สึกกังวลใจมากเมื่อมือถือไม่ได้อยู่กับตัว
– หมกมุ่นอยู่กับการเช็คข้อความจากโซเชียลมีเดีย แอพพลิเคชั่นต่างๆ อัพเดทข้อมูลจากโทรศัพท์อยู่ตลอด หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูบ่อย แม้ไม่มีเรื่องด่วน
– เมื่อมีการแจ้งเตือนเข้ามาจากโทรศัพท์ จะให้ความสำคัญกับโทรศัพท์ในทันที ไม่เช่นนั้นจะไม่มีสมาธิ มีความกระวนกระวายใจ จนไม่สามารถทำภารกิจที่อยู่ตรงหน้าต่อได้
– เมื่อตื่นนอนก็เช็คโทรศัพท์เป็นอันดับแรก และก่อนนอนก็ยังคงเล่นโทรศัพท์
– เล่นโทรศัพท์เป็นประจำในขณะที่กำลังทำกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ระหว่างรับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ ขับรถ หรือ ระหว่างนั่งรอรถเมล์ ขึ้นรถไฟฟ้า
– เมื่อหาโทรศัพท์ไม่เจอ จะรู้สึกตื่นตระหนกตกใจมากกว่าสิ่งของอย่างอื่นหาย
– กลัวโทรศัพท์ตัวเองหาย แม้ว่าจะวางอยู่ในที่ที่ปลอดภัยแล้วก็ตาม
– ไม่เคยปิดโทรศัพท์มือถือเลย
– ในแต่ละวันใช้เวลาพูดคุยกับผู้คนผ่านโทรศัพท์ในโลกออนไลน์ มากกว่าพูดคุยกับผู้คนจริงๆ รอบข้าง
โรค Nomophobia ก่อผลเสียและเสี่ยงต่อสารพัดโรค
– นิ้วล็อก เกิดจากการใช้นิ้วมือกด จิ้ม เขย่า สไลด์ หน้าจอติดต่อกันนานเกินไป ทำให้มีอาการปวดข้อมือ ข้อมืออักเสบ เส้นเอ็นยึด เกิดพังพืด ถ้ารู้สึกว่ากำนิ้วมือแล้วเหยียดนิ้วไม่ได้นั่นคือสัญญาณเตือนว่าควรรีบไปพบแพทย์
– อาการทางสายตา เกิดอาการสายตาล้า ตาพร่า ตาแห้ง จากการเพ่งสายตาจ้องหน้าจอเล็กๆ ที่มีแสงจ้านานเกินไป หรือเกิดอันตรายจากแสงสีฟ้าจากหน้าจอโทรศัพท์ (Blue Light) ที่ถ้าหากสัมผัสแสงนี้ไปนาน ๆ อาจส่งผลให้วุ้นในตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อมหรือตาบอดจาก Age Macular Degeneration (AMD) ได้
– ปวดเมื่อย คอ บ่า ไหล่ เพราะในการใช้งานโทรศัพท์ คนส่วนใหญ่จะก้มหน้า ค้อมตัวลง ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่หดตัวผิดปกติ เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากเล่นนานๆ อาจมีอาการปวดศีรษะตามมา
– หมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร ท่าทางการใช้โทรศัพท์ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยเฉพาะการก้มหน้า อาจทำให้กล้ามเนื้อไม่สามารถพยุงกระดูกได้ดี อีกทั้งการไม่ออกกำลังกายก็เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้กระดูกบางหรือทรุด สองสาเหตุนี้ล้วนเป็นปัจจัยเสริมสำคัญที่ทำให้เกิดอาการโรคกระดูกต้นคอเสื่อม (C-Spine spondylosis)
– โรคอ้วน แม้การใช้โทรศัพท์จะไม่ได้ทำให้เกิดโรคอ้วนโดยตรง แต่การนั่งเล่นโทรศัพท์ทั้งวันโดยแทบไม่ลุกเดินไปไหน ก็จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอ้วนและโรคเรื่อรังอื่นๆ ได้
เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด่วน! หากไม่อยากเป็นโรค Nomophobia
– เมื่อรู้สึกเหงา ให้หากิจกรรมอื่นหรือเพื่อนคุยแทนการใช้โทรศัพท์ เช่น คุยกับคนในบ้าน เพื่อนร่วมงาน นัดเพื่อนเพื่อมาเจอกัน ไม่ควรหมกมุ่นอยู่กับการสนทนาผ่านหน้าจอโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์
– ลองตั้งกฎว่าจะไม่แตะต้องโทรศัพท์มือถือภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมงหากไม่มีธุระจำเป็น แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาให้ได้มากขึ้น
– กำหนดให้ห้องนอนเป็นเขตปลอดโทรศัพท์มือถือ แล้วพยายามทำตามให้ได้เพื่อที่จะไม่ต้องหยิบมือถือมาเล่นทันทีตั้งแต่ลืมตาตื่น หรือผลอยหลับไปกับมือถือที่เล่นก่อนนอน
ทั้งนี้ หากมีอาการที่ไม่สามารถห่างจากโทรศัพท์มือถือได้ควรปรึกษาจิตแพทย์ ทางการแพทย์อาจจะใช้วิธีการรักษาแบบ Cognitive Behavior Therapy (CBT) ที่นิยมใช้รักษาคนมีอาการวิตกกังวล และอาการกลัวในระดับต่างๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนแปลงความเชื่อเฉพาะตัว ทำให้เรารู้สึกเป็นอิสระมากขึ้นเมื่อไม่มีโทรศัพท์มือถือ
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ www.chiangmaimobile.com
Leave a Reply