dtac ประกาศกำไร Q1 0.53 บาทต่อหุ้น และไม่ร่วมประมูลคลื่น 900 MHz

by

in

dtac ประกาศกำไร  0.53 บาทต่อหุ้น ในไตรมาส 1 ปี 2559 และไม่ร่วมประมูลคลื่น 900 MHz

dtac รายงานผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1/2559 มีรายได้รวมอยู่ที่ 21.7 พันล้านบาท และกำไรสุทธิที่ 1.3 พันล้านบาท เป็นครั้งแรกที่รายได้จากการให้บริการดาต้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ของรายได้รวมจากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าความต้องการในการใช้บริการดาต้ายังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง dtac มีจำนวนคลื่นความถี่ในการให้บริการที่แข็งแกร่งด้วยแบนด์วิธที่มากถึง 50  MHz ซึ่งมากเพียงพอที่จะรองรับการเติบโตของความต้องการในการให้บริการที่ดีที่สุดกับลูกค้าทั้งในระบบ 2G 3G และ 4G

dtac ยังคงขยายโครงข่าย 4G และ 3G อย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนสถานีฐานเพิ่มขึ้นประมาณ 13,000 สถานี จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และได้ขยายโครงข่ายการให้บริการในระบบ 4G ครอบคลุมครบทั้ง 77 จังหวัด ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/2559 ทำให้คุณภาพของโครงข่ายและการรับรู้ ตลอดจนความมั่นใจในการใช้งานของลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้บริการในระบบ 4G เพิ่มขึ้นจากประมาณ 1 ล้านรายในช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 2.9 ล้านราย ณ สิ้นไตรมาส 1/2559 dtac มีจำนวนผู้ใช้บริการรวมในระบบทั้งสิ้น 25.5 ล้าน ในจำนวนนี้ 91% ได้จดทะเบียนภายใต้ dtac trinet

dtac8B0A2768

dtac วางแผนในการเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการ 4G ด้วยการขยายแบนด์วิธบนคลื่นความถี่ 1800 MHz เพิ่มอีก 5 MHz เป็น 20 MHz ทำให้ dtac เป็นผู้ให้บริการรายเดียวที่ให้บริการ 4G ได้ด้วยแบนวิธที่กว้างที่สุดถึง 20MHz บนคลื่นความถี่ 1800MHz เพียงคลื่นความถี่เดียว

ซึ่งจะให้บริการร่วมกับ 4G บนคลื่น 2100MHz อีก 5 MHz ทำให้ dtac เป็นเครือข่ายเดียวที่ลูกค้าสามารถใช้งานกับอุปกรณ์มือถือ 4G ได้ทุกรุ่นทุกยี่ห้อในตลาด นอกจากนี้ dtac ยังจะขยายโครงข่ายการให้บริการ 4G ให้ครบ 878 อำเภอ ทั่วประเทศภายในสิ้นไตรมาสที่ 3/2559

นอกจากการพัฒนาโครงข่ายอย่างต่อเนื่องแล้ว dtac ยังเป็นผู้ให้บริการที่ให้ความคุ้มค่าที่สุดในตลาด ด้วยข้อเสนอแพ็กเกจที่ดึงดูดใจในการใช้บริการโพสต์เพด รวมทั้งท้อปปิ้งแพ็กเกจลูกค้าพรีเพด และบันเดิลแพ็กเกจมือถือและค่าใช้บริการที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับลูกค้า พร้อมกับแคมเปญสนับสนุนมือถือให้ลูกค้าพรีเพด ที่เริ่มแล้วในไตรมาส 2/2559

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ dtac เพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยในส่วนของค่าใช้จ่ายด้านเครือข่ายขยายตัวตามการเติบโตของเครือข่าย ค่าใช้จ่ายในการขายและการตลาด รวมถึงค่าใช้จ่ายในการบริหาร เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับกับระดับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายด้านการอุดหนุนราคาเครื่องโทรศัพท์ของพรีเพดลดลงใน ไตรมาส 1/2559 ส่งผลให้อัตรากำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่าย ภาษีนิติบุคคล ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA margin) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 33.8 ในไตรมาส 1/2559 เปรียบเทียบกับร้อยละ 32.3 ในงวดเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของต้นทุนการให้บริการมีค่าสูงขึ้นเนื่องจากการลงทุนที่มากขึ้นในการพัฒนาโครงข่ายดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายได้ถูกหักล้างบางส่วนจากการลดลงของต้นทุนจากส่วนแบ่งรายได้ (Regulatory cost) และภาษีนิติบุคคล ส่งผลให้กำไรสุทธิลดลงร้อยละ 45 จากงวดเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มผลการดำเนินงานของปี 2559 ยังคงเดิม โดยพิจารณาจากความไม่แน่นอนของการแข่งขันในตลาด รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังไม่ฟื้นตัว ประกอบด้วย (1) การเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหรือคงที่ของรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (2) อัตรากำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่าย ภาษีนิติบุคคล ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA margin) อยู่ในช่วงร้อยละ 27 – 31 และ (3) เงินลงทุนในเครือข่ายและสินทรัพย์อื่นที่ระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

นายลาร์ส  นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ dtac กล่าวว่า “ dtac ยินดีที่ได้เห็นรายได้จากการให้บริการดาต้าเพิ่มขึ้นถึงสัดส่วนร้อยละ 50 ของรายได้รวมจากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) เป็นครั้งแรก เรามีคลื่นความถี่ที่ถือครองมากเพียงพอในการรองรับการเติบโตของดาต้า

สิ่งที่บริษัทฯให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือ การทำให้รายได้กลับมาเติบโตอีกครั้ง และการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของรายได้จากการให้บริการ เราวางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนในโครงข่าย 4G ทั้งบนคลื่นความถี่ 1,800 MHz และ 2,100 MHz เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทางด้านการใช้บริการอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ยังคงเติบโตอย่างสูง และลงทุนในโครงข่าย 3G ให้ครอบคลุมร้อยละ 95 ของจำนวนประชากร พร้อมทั้งนำเสนอโปรโมชั่นแพ็กเกจและราคาโทรศัพท์มือถือที่คุ้มค่าด้วย

ในปัจจุบันนี้มีปริมาณคลื่นความถี่ทั้งหมดจำนวน 50 MHz ที่ถือครองอยู่ ซึ่งมากพอสำหรับการให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น dtac จึงตัดสินใจที่จะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz ในครั้งนี้ อย่างไรก็ตามเพื่อความมั่นใจในการเติบโตอย่างยั่งยืน dtac มุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะจัดหาคลื่นความถี่เพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอที่จะรองรับฐานลูกค้าที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะมีคลื่นความถี่ตามชุดที่ถือครองหมดสัมปทานประมาณปี พ.ศ. 2561 เพิ่มเติมจากคลื่น 2100 MHz ที่ dtac ยังถือครองใบอนุญาตซึ่งมีอายุใช้งานถึงปี พ.ศ. 2570