True – AIS คว้าใบอนุญาต 4G 1800MHz เคาะราคาประมูลรวม 80,778 ล้านบาท

ทีมงาน 9ThaiPhone ได้เกาะติด ลงพื้นที่ทำข่าวการประมูลคลื่นความถี่ 1800MHz ที่สำนักงาน กสทช. ตั้งแต่เช้าวันที่ 11 พ.ย. จนถึงค่ำวันที่ 12 พ.ย. 2558  ลุ้นกันเหนื่อย ประมูลลากยาวเกินคาดถึงสองวันเต็ม

ในที่สุด ทรูและเอไอเอส คว้าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800MHz ตรงกับที่หลายคนคาดไว้แล้ว  เคาะราคา 2 วัน ราคาพุ่ง 200% จากราคาตั้งต้น 2 ใบอนุญาต ได้กว่า 8 หมื่นล้าน เอไอเอสได้ใบที่ 2 ราคาสูงถึง 40,980 ล้านบาท ขณะที่ทรูได้ใบที่ 1 ราคา 39,792 ล้านบาท  ด้าน กสทช. มั่นใจว่าประมูลคลื่น 1800MHz ครั้งนี้ โปร่งใส สู้ราคากันจริงแบบดุเดือดเกินคาด ประมูลกันยาวนาน 2 วันเต็ม  กทค. พร้อมรับรองผลวันที่ 17 พ.ย. นี้

12227390_1520349198289719_492262218_o

ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2558 ที่ผ่านมา  เริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 10.00 น. มีการเคาะราคาแข่งขันกันอย่างดุเดือด ใช้เวลาในการเคาะราคารวมทั้งสิ้นประมาณ 29 ชม. ซึ่งการประมูลได้จบลงในรอบที่ 86 (ค่ำวันที่ 12 พ.ย.) ราคารวม 80,778 ล้านบาท โดยชุดที่ 1 มีมูลค่า 39,792 ล้านบาท ชุดที่ 2 มูลค่า 40,986 ล้านบาท

โดยผู้ชนะ (ชั่วคราว) ในการประมูลใบอนุญาตคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ ชุดที่ 1 คือ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และชุดที่ 2 คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ส่วน บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด เสนอราคาสุดท้ายในชุด 1 ที่ราคา 38,996 ล้านบาท และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เสนอราคาสุดท้ายในชุด 1 ที่ราคาเพียง 17,504 ล้านบาท

12236972_1520234261634546_1269874497_o

หลังจากนี้ กทค. จะร่วมพิจารณากับคณะกรรมการธรรมาภิบาล เพื่อรับรองผลการประมูลในวันที่ 17 พ.ย. 2558  และหลังจากประกาศรับรองผู้ชนะอย่างเป็นทางการแล้ว  ผู้ชนะการประมูลสามารถนำเงินมาจ่ายค่าใบอนุญาตงวดแรกในอัตรา 50% ได้ทันที ซึ่งได้กำหนดให้จ่ายงวดแรกภายใน 90 วัน และจ่ายงวดที่ 2 และงวดที่ 3 ในอัตรา 25%

ส่วนประชาชนที่ยังกังวลเรื่องราคาประมูลที่สูงมาก จะส่งผลต่ออัตราค่าบริการในอนาคตนั้น กสทช. ได้มีการกำหนดไว้ในเงื่อนไขของการประมูลตั้งแต่ต้นแล้วว่า อัตราค่าบริการ 4G จะต้องถูกกว่าค่าบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิร์ตซ  นอกจากนี้ เงื่อนไขการประมูลระบุในส่วนการคุ้มครองผู้บริโภคว่า ผู้รับใบอนุญาตจะต้องจัดให้มีแพ็คเกจราคาประหยัดสำหรับผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีรายได้น้อย ที่มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท โดยผู้รับใบอนุญาตจะต้องส่งแผนต่อ กทค. ก่อนเริ่มให้บริการ และต้องดำเนินการตามแผนภายใน 1 ปี นับจากวันที่เริ่มให้บริการ  จึงขอให้ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป ซึ่งข้อกำหนดในเรื่องอัตราค่าบริการประเภทเสียง ปัจจุบันอยู่ที่ 69-72 สตางค์ต่อนาที และอัตราค่าบริการประเภทดาต้าอยู่ที่ 26 สตางค์ต่อเมกกะไบต์  ซึ่งเท่ากับว่าอัตราค่าบริการ 4G ที่จะเปิดให้บริการในอนาคตจะต้องถูกกว่านี้

หลายฝ่ายยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า บริษัทที่ชนะการประมูลใบอนุญาตในราคาที่สูงมาก จะไม่สามารถขยายโครงข่ายได้ทันตามกำหนดเวลาของ กสทช. ที่จะต้องขยายให้ครอบคลุมประชากร 40% ภายใน 4 ปี และ 50% ภายใน 8 ปี เพราะเงินลงทุนอาจจะไม่เพียงพอนั้น เชื่อว่าบริษัทที่เป็นผู้ให้บริการรายเดิมมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โทรคมนาคมมาแล้ว  การวางแผนบวกลบรายได้-รายจ่าย มีประสบการณ์และความชำนาญอยู่แล้ว

12233533_1519865021671470_17168663_n(1)

การประมูลครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 4 ราย คือ 1. บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด 2. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด 3. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค และ 4.บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด โดยมีการประมูลจำนวน 2 ใบอนุญาต ใบละ 15 เมกะเฮิร์ตซ เป็น 2 ช่วงคลื่น คือ ชุดที่ 1 ช่วงคลื่น 1710-1725/1805-1820 เมกะเฮิร์ตซ และชุดที่ 2 ช่วงคลื่น 1725-1740/1820-1835 เมกะเฮิร์ตซ ซึ่งราคาประมูลเริ่มต้นที่ 15,912 ล้านบาท หรือ 80% เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 5% หรือคิดเป็น 796 ล้านบาทต่อครั้ง จากนั้นเมื่อเคาะถึงราคา 19,890 ล้านบาท หรือเท่ากับจำนวนราคา 100% จะปรับลดลงมาเหลือ 2.5% หรือคิดเป็น 398 ล้านบาทต่อครั้ง ใบอนุญาตจะมีอายุ 18 ปี สำหรับเวลาการเคาะแต่ละรอบอยู่ที่ 20 นาที แบ่งเป็น กำหนดเวลาในการตัดสินใจเคาะ 15 นาที ประมวลผลอีก 5 นาที

ใบอนุญาตชุดที่ 2 เป็นช่วงคลื่นที่อยู่ใกล้กับช่วงคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซเดิมที่ยังไม่หมดอายุสัมปทาน โดยจะหมดอายุในปี 2561  ผู้ประกอบการหลายรายจึงต้องการได้ใบอนุญาตในชุดที่ 2 เพื่อจะได้มีโอกาสเพิ่มความกว้างของคลื่นที่อยู่ติดกันได้ จึงทำให้มีการเคาะราคาแย่งชิงต่อสู้กันอย่างดุเดือดตลอดทั้ง 2 วันที่ประมูล โดยสรุปราคาประมูลครั้งสุดท้ายของแต่ละราย มีดังนี้

  • AIS 40,986 ล้านบาท (ชนะล็อต 2)
  • True 39,792 ล้านบาท (ชนะล็อต 1)
  • JAS 38,966 ล้านบาท
  • dtac 17,504 ล้านบาท

ส่วนการประมูลคลื่นความถี่ 900MHz จะเริ่มประมูลในช่วงเช้าวันที่ 15 ธันวาคมนี้ เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองเช่นกันว่าจะแข่งขันกันดุเดือดแค่ไหน