“รดน้ำต้นไม้ ผ่านมือถือ” ไอเดียสร้างสรรค์ หนุ่มวิศวฯเกษตร มทร.ธัญบุรี
ผลงานล่าสุดของนักศึกษา มทร.ธัญบุรี ด้วยการประยุกต์ใช้โปรแกรม Image J ร่วมกับกล้อง IP Camera ในการวิเคราะห์ค่าความต้องน้ำของพืชผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และควบคุมผ่านทางสัญญาณโทรศัพท์มือถือ การันตีด้วยรางวัลชมเชย ด้านความคิดสร้างสรรค์ การแข่งขันภาคบรรยาย จากการเข้าร่วมประชุมวิชาการโครงงานวิศวกรรมเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 20 ประจำปี 2557 เจ้าของความคิดและผู้ออกแบบ “อิฐ” นายกันตพงศ์ ติดงาม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร และอาจารย์อภิรัฐ ปิ่นทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี
อิฐ เล่าว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตมากขึ้น โดยในทางเกษตรกรรม ได้นำเข้ามาประยุกต์ เช่น การใช้เทคโนโลยีด้านอินเทอร์เน็ตในการเข้าถึงข้อมูลสภาพด้านภูมิอากาศรวมถึงการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในอนาคตเพื่อควบคุมคุณภาพผลผลิตให้มีความสม่ำเสมอ ทำให้ต้นทุนในการผลิตลดลงและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรจากการปรับตัว ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ในการคิดค้นและออกแบบการประยุกต์การประมวลภาพดิจิตอลโดยใช้โปรแกรม Image J ร่วมกับกล้อง IP Camera ในการวิเคราะห์ค่าความต้องการน้ำของพืชผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และควบคุมระบบผ่านทาง สัญญาณโทรศัพท์มือถือขึ้นมา เพื่อเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในการให้น้ำแก่พืช ได้ทุกที่ทุกเวลา
การประยุกต์ใช้โปรแกรม Image J ร่วมกับกล้อง IP Camera ในการวิเคราะห์ค่าความต้องน้ำของพืชผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และควบคุมผ่านทางสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ประกอบด้วย 1. โปรแกรม Image J ซึ่งโปรแกรม “Image J” ได้ถูกพัฒนาขึ้นโดย Wayne Rasband และ The National Institute of Health (NIH) ประเทศสหรัฐอเมริกา ถูกเขียนขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการวิเคราะห์ข้อมูลจากรูปภาพ เช่น การหาพื้นที่ของวัตถุ การนับจำนวนเซลล์ที่ได้จากภาพถ่าย 2. เครื่องวัดแรงดึงความชื้น Tensiometer เป็นเครื่องมือวัดความเครียดเมตริก (Metric Suction) ของความชื้นในดิน ที่เกษตรกรทั่วไปนิยมใช้งาน ทั้งยังเป็นอุปกรณ์ราคาถูก สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด เพื่อช่วยในการคำนวณการให้น้ำแก่พืช จะใช้ร่วมกับกราฟลักษณะความชื้นของดินซึ่งแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความชื้นและแรงดึงความชื้น 3. กล้อง IP Camera เป็น กล้องที่สามารถส่งสัญญาณข้อมูลผ่านระบบไร้สายผ่านไปบนระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทำให้ผู้ใช้สามารถมองเห็นได้การเปลี่ยนแปลงของพืชได้ตลอดเวลา
วิธีการออกแบบและการดำเนินการทดลอง 1. ออกแบบอุปกรณ์ยึดจับตัวกล้อง IP Camera ด้วยโปรแกรม Solid Work และจัดสร้างอุปกรณ์จริง 2. สร้างเว็บไซต์ที่ใช้สำหรับเชื่อมโยง กล้อง IP Camera ที่ใช้จับทรงพุ่มพืชเพื่อคำนวณหาค่าปริมาณความต้องการน้ำของพืช 3. เตรียมดินร่วนสำหรับการเพาะปลูกพืชที่ทำการทดลอง ได้แก่ มะเขือเปราะในถุงปลูก 4. ทำการติดตั้งอุปกรณ์วัดแรงดึงความชื้น Tensiometer ในพืชเพื่อทดลอง 5. ติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมกระแสไฟฟ้าผ่านระบบสัญญาณโทรศัพท์มือถือมาทดสอบ 6. นำอุปกรณ์ทั้งหมดมาเชื่อมต่อ
ทั้งนี้ อิฐ ได้อธิบายถึงผลในการทดลองหาพื้นที่ของทรงพุ่ม และค่าความชื้นของดินได้จากเครื่องมือวัดแรงดึงความชื้นในดิน (Tensiometer) วิเคราะห์ร่วมกับกราฟลักษณะความชื้นของดิน เพื่อคำนวณหาปริมาณการให้น้ำแก่พืชตามช่วงการเจริญเติบโต โดยเครื่องควบคุมผ่านทางระบบสัญญาณโทรศัพท์มือถือ
“จากตัวอย่างผลการศึกษาพบว่า วิธีดังกล่าว สามารถคำนวณหาพื้นที่ของทรงพุ่มได้ 0.108 ตารางเมตร ค่าแรงดึงความชื้นในดินเท่ากับ – 0.4 บาร์ เมื่อนำข้อมูลไปประมวลผลผ่านเว็บไซต์ จะได้ปริมาณน้ำที่ต้องให้แก่พืช 6.35 ลิตร/ตัน โดยให้น้ำด้วยระบบน้ำหยดที่อัตราการไหลเท่ากับ 0.046 ลิตร/นาที ระบบจะคำนวณเวลาการให้น้ำเท่ากับ 138 นาที ซึ่งเป็นเวลาในการเปิดเครื่องควบคุมผ่านระบบสัญญาณโทรศัพท์มือถือ จึงจะเพียงพอที่ให้ความชื้นของดินกลับมาถึงจุดความชื้นชลประทาน (Field Capacity) เพื่อพืชจะได้นำความชื้นนี้ใช้สำหรับการเจริญเติบโต”
โดยจากการทดลอง อุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นมาสามารถใช้งานได้จริงในการวิเคราะห์ความต้องน้ำของพืช ผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ตามหลักของวิชาการและสอดคล้องในความเป็นจริง อีกทั้งยังสามารถสั่งการหรือควบคุมการให้น้ำแก่พืชผ่านระบบสัญญาณโทรศัพท์มือถือได้ตามความต้องการ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย แก่ผลผลิตและลดการสูญเสียของน้ำที่ให้แก่พืชเกินความจำเป็น จึงทำให้สามารถประหยัดทั้งทรัพยากรน้ำ อีกทั้งยังสามารถใช้ในการสังเกตการณ์เจริญเติบโตและโรคที่เกิดกับพืชเพื่อแยกและป้องกันการลุกลามของโรคได้
สำหรับการประยุกต์ใช้โปรแกรม Image J ร่วมกับกล้อง IP Camera ในการวิเคราะห์ค่าความต้องการน้ำพืชผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และควบคุมผ่านทางสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ออกแบบให้เหมาะสมกับพืชพุ่ม โดยสามารถใช้ได้ในระดับความสูง 4 เมตร ต้นทุนประมาณ 7,000 บาท
ขอขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
Leave a Reply