มาสเตอร์การ์ดชู สมาร์ท ซิตี้ ในงานฟินเทคแฟร์ 2018 ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกในไทยโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

มาสเตอร์การ์ดชู สมาร์ท ซิตี้ ในงานฟินเทคแฟร์ 2018 ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกในไทยโดยธนาคารแห่งประเทศไทย มุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะที่ทุกระบบและทุกคนเชื่อมต่ออย่างมีประสิทธิภาพ

Mastercard Smart City Booth

มาสเตอร์การ์ด (ประเทศไทย) ผู้นำด้านเทคโนโลยีทางการเงินระดับโลก ร่วมจัดแสดงบูธภายในงาน บางกอก ฟินเทค แฟร์ 2018 (Bangkok Fin Tech Fair 2018) งานแสดงเทคโนโลยีด้านการเงินที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 19-20 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภายในบูธมาสเตอร์การ์ด “มาสเตอร์การ์ด สมาร์ท ซิตี้” นำเสนอคอนเซปของเมืองที่มีระบบเชื่อมต่อถึงกันอย่างมีประสิทธิภาพและทุกคนได้รับประโยชน์จากระบบต่างๆ เหล่านั้น โดยสมาร์ท ซิตี้ ถือเป็นการจัดการเมืองในยุคที่กำลังจะมาถึง

ทั้งนี้ มาสเตอร์การ์ดคาดว่า เมืองส่วนใหญ่ทั่วโลกจะขยายตัวเป็นมหานคร จากการที่ผู้คนย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยในเขตเมืองมากยิ่งขึ้นจากปัจจุบันร้อยละ 54 จะเพิ่มเป็นร้อยละ 70 ซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการสาธารณูปโภคและความเป็นอยู่ของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับในประเทศไทย มาสเตอร์การ์ดเห็นว่า สมาร์ท ซิตี้ สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ของรัฐบาลซึ่งมุ่งขับเคลื่อนประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และสังคมไร้เงินสด

มร. เบนจามิน กิลบี รองประธานอาวุโส ด้านการชำระเงินดิจิทัลและห้องแล็บทางการเงิน ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มาสเตอร์การ์ด ซึ่งเข้าร่วมการสัมนากับผู้บริหารระดับสูงของธนาคารต่างๆและผู้บริหารด้านเทคโนโลยีทางการเงินอื่นๆ ในงานบางกอก ฟินเทค แฟร์ 2018 ในหัวข้อ The Importance of Common Standard and Interoperability to make cities connected

กล่าวว่า “การวางมาตรฐานกลางร่วมกันจะเป็นกุญแจสำคัญของการเป็นสมาร์ท ซิตี้ เช่น กรุงเทพมหานคร เพื่อทำให้มีการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของไทยสู่การเป็นระบบเศรษฐกิจยุคดิจิทัล”

มร. โดนัลด์ ออง ผู้จัดการประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ มาสเตอร์การ์ด ให้ความเห็นว่า “ขณะที่ประเทศไทยกำลังพัฒนาตามแนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อให้เป็นระบบเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้เป็นพื้นฐาน จึงจำเป็นจะต้องมีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ให้เกิดระบบการเงินที่พัฒนายิ่งขึ้น สมาร์ท ซิตี้ จึงเป็นก้าวต่อไปในความร่วมมือที่มาสเตอร์การ์ดพร้อมเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุน

โดยที่ผ่านมา มาสเตอร์การ์ดได้ร่วมมือกับเมืองต่างๆ ทั่วโลกเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่อยู่อาศัย รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนให้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนในเมือง ช่วยให้เมืองสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการและมีข้อมูลที่ช่วยให้เข้าใจความต้องการและความจำเป็นของผู้อยู่อาศัยในเมืองและผู้ที่มาเยือนได้ดีขึ้น”

“ที่ผ่านมา เราได้เห็นถึงความสำเร็จของนโยบายต่างๆ ของรัฐ ในความพยายามวางโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัล อาทิ การเปิดตัว “พร้อมเพย์” (PromptPay) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้แล้วถึง 39.3 ล้านราย โดยผ่านบัตรประจำตัวประชาชนและหมายเลขโทรศัพท์มือถือ จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการมองหาเทคโนโลยีและความร่วมมือใหม่ๆ เพื่อให้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงิน เศรษฐกิจดิจิทัลรวมทั้งสังคมไร้เงินสดครอบคลุมคนในวงกว้างขึ้น ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนประเทศไทย” มร.โดนัลด์ กล่าว

มาสเตอร์การ์ดทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งพันธมิตรทางธุรกิจในเมืองต่างๆ กว่า 100 เมือง ทั่วโลกเพื่อพัฒนาเป็น “สมาร์ทซิตี้” โดยความร่วมมือที่มีขึ้นในเมืองต่างๆ อาทิ สิงคโปร์ ซิดนีย์ ลอนดอน นิวยอร์ก ได้นำนวัตกรรมแบบ contactless และการชำระเงินผ่านมือถือ (Mobile Payment) เข้าไปมีส่วนช่วยระบบคมนาคมขนส่งของเมืองต่างๆ เหล่านั้น

มาสเตอร์การ์ดยังทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐ ในการสร้างอัตลักษณ์ดิจิทัลทางการเงิน (digital financial identity) โดยเปิดโอกาสให้ประชากรจำนวนมากของประเทศที่ไม่มีสมุดบัญชีธนาคาร สามารถเข้าถึงบริการด้านการเงินได้ รวมถึง สมาร์ท ไอดี การ์ด (Smart ID Card) ที่ทำงานร่วมกับแอพพลิเคชั่นหลากหลายเช่น การจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัตรเอนกประสงค์ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งการจ่ายเงินและไม่ใช่การจ่ายเงิน รวมถึง การรับสวัสดิการทางสังคมและค่าขนส่งมวลชนสาธารณะ

มาสเตอร์การ์ดมุ่งมั่นสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา ได้ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเปิดตัวมาตรฐาน QR Code ซึ่งสามารถรองรับการทำงานร่วมกันระดับโลกเพื่อให้ร้านค้าและผู้บริโภคชาวไทยสามารถซื้อขายและจับจ่ายใช้สอยในระบบอีเปย์เมนท์ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย

นอกจากนี้ยังเปิดตัว “พร้อมการ์ด เดบิต มาสเตอร์การ์ด” (PromptCard Debit Mastercard) ซึ่งเป็นบัตรเดบิตเพื่อการทำธุรกรรมและซื้อสินค้าร่วมกับ National ITMX เพื่อสนับสนุนนโยบายการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาลในปีเดียวกันอีกด้วย

ในงาน Bangkok Fin Tech Fair 2018 มาสเตอร์การ์ดนำเสนอรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างมาสเตอร์การ์ดกับเมืองต่างๆ ในแนวทางหลักๆ ได้แก่

• ระบบขนส่งสาธารณะ (Transit) – มาสเตอร์การ์ดทำให้ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะสามารถชำระเงินด้วยการแตะบัตรเพียงครั้งเดียวทำให้ผู้เดินทางได้รับความสะดวกและยังลดต้นทุนในการให้บริการขนส่งสำหรับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี
• การจับจ่ายใช้สอยประจำวัน (Everyday Life) – มาสเตอร์การ์ดได้ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจในการนำเทคโนโลยี เช่น มาตรฐาน QR code ที่ทำให้ผู้ค้าและผู้ซื้อสามารถทำการค้าระหว่างกันผ่านช่องทางที่สะดวกมากยิ่งขึ้น แม้ว่าจะมีแพลทฟอร์มการใช้งานบัตรที่แตกต่างกันก็ตาม
• การดำเนินธุรกิจแบบ B2B – มาสเตอร์การ์ดช่วยให้ธุรกิจต่างๆ ใช้ประโยชน์สูงสุดจากข้อมูลที่มี ควบคู่ไปกับนวัตกรรมการชำระเงิน เพื่อสร้างผลกำไรให้สูงขึ้น ชี้ให้เห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และเพิ่มการเติบโตในธุรกิจออนไลน์