“มือถือเก่าไป เครื่องมือแพทย์ใหม่มา” โครงการรับบริจาคมือถือเก่าทุกสภาพ เพื่อนำไปรีไซเคิลแปลงเป็นเงินมอบให้องค์กรเพื่อสังคม
รู้มั้ย! คนไทยมีโทรศัพท์มือถือมากถึง 200 ล้านเครื่องในครัวเรือน ลองคิดเล่นๆ ว่าจำนวนนี้จะกลายเป็นขยะจำนวนเท่าไรแต่ละปี ที่สำคัญเป็น “ขยะอิเล็กทรอนิกส์มีพิษ” ที่ยังจัดการไม่ได้ นำมาซึ่งโครงการ “มือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา” โดย ธะเร ศรีแสงสุข นักธุรกิจด้านการบริหารจัดการขยะ เดินหน้ารับบริจาคโทรศัพท์มือถือเก่าทุกยี่ห้อ ทุกประเภท ทุกสภาพ
นำไปรีไซเคิลแปลงเป็นเงินมอบให้องค์กรเพื่อสังคม โดยจัดงานแถลงข่าวความสำเร็จเฟสแรก พร้อมต่อยอดเฟส 2 ในแนวคิด “มือถือเก่าไป เครื่องมือแพทย์ใหม่มา” ตั้งเป้ารับบริจาคให้ได้ 5 ล้านเครื่อง ช่วยซื้อเครื่องมือแพทย์ใหม่ให้โรงพยาบาล 30 แห่งทั่วประเทศ ที่สโมสรโรงงานยาสูบ เมื่อวันก่อน
ศ.ดร.กุณฑลี รื่นรมย์ ที่ปรึกษาโครงการ เปิดเผยถึงภาพรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ รวมถึงโทรศัพท์มือถือเมื่อถูกทิ้งแล้วจะมีสารเคมีที่เป็นพิษถ้าระบบการจัดการไม่ถูกต้อง จากงานวิจัยระบุว่าเราทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่เป็นที่ มีทั้งเก็บไว้เฉยๆ กับทิ้งลงขยะรวมกับขยะทั่วไป นอกจากนี้หลายคนไม่รู้ว่าชิ้นส่วนข้างในโทรศัพท์เป็นพิษ
“ทำอย่างไรจึงจะกระตุ้นการรักษ์สิ่งแวดล้อม การรับบริจาคมือถือเก่าเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมปีที่แล้ว ตอนเปิดตัวโครงการได้รับบริจาคมา 1.7 ล้านเครื่อง คิดเป็นเงินมูลค่า 3.62 ล้านบาท บริจาคให้มูลนิธิรามาธิบดี สมทบทุนสร้างอาคารสถาบันการแพทย์, ศิริราชมูลนิธิ สร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา, มูลนิธิเดอะวอยซ์ ช่วยเหลือชีวิตสัตว์ และกลุ่มพหุชนคนอาสา
สนับสนุนการทำงานจิตอาสาช่วยเหลือสังคมจังหวัดชายแดนใต้ จริงๆ แล้วอยากให้ครูที่โรงเรียนสอนเด็กเรื่องนี้ ขยะโทรศัพท์จะไปทิ้งรวมกับขยะอื่นๆ ไม่ได้ ต้องมีจุดรับโดยเฉพาะ คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าทิ้งกัน เพราะกลัวข้อมูลส่วนตัวจะหลุด ต้องคิดใหม่ว่าถ้าจะทิ้งให้นึกถึงมือถือเก่าไปได้ชีวิตใหม่มา” ที่ปรึกษาโครงการกล่าวพร้อมเสริมว่า คนไทยเปลี่ยนมือถือบ่อยมากถึง 2 ปีต่อครั้ง ด้วยเหตุผลความเก่า หลงโปรโมชั่นใหม่ๆ และตามกระแสแฟชั่น นำมาซึ่งขยะโดยไม่จำเป็น
ด้าน สายฝน อภิธนัง หัวหน้าประชาสัมพันธ์โครงการ แจงขั้นตอนการกำจัดขยะมือถือว่าในโทรศัพท์มีส่วนประกอบเป็นพลาสติก 45 เปอร์เซ็นเตอร์ ทองคำ 0.02 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นทองแดง ทองคำขาว และแพลตตินัม เมื่อได้รับบริจาคมาแล้วก็จะมีการรวบรวมใส่ถุงที่มีความเหนียวเป็นพิเศษแล้วขนย้ายโดยบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
จากนั้นส่งไปชลบุรีเพื่อลำเลียงทางเรือไปแยกธาตุต่างๆ ที่เมืองซัวเถา ประเทศจีน เนื่องจากเมืองไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพราะกระบวนการคัดแยกยุ่งยาก โดยเฉพาะแบตเตอรี่จะเกิดมลพิษมาก ที่เมืองจีนจะนำไปหลอมแล้วกลับมาใช้ใหม่ ถือเป็นการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้มาก
ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถนำมือถือเก่าไปบริจาคได้ตั้งแต่ วันนี้ถึง 31 มกราคม ที่สถานีอนามัยทั่วประเทศ, ศูนย์ทสม.ประจำตำบล, ที่ทำการไปรษณีย์, ร้านเจมาร์ท ทุกสาขา, จิตอาสาโครงการ 2 หมื่นคนทั่วประเทศ ติดตามรายละเอียดโครงการที่ www.facebook.com/recycleandreduce/มือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ komchadluek.net
Leave a Reply