สคบ. ประกาศผลทดสอบ Huawei Mate 9 หลังถูกผู้ใช้งานรวมพลร้องเรียน งานนี้มีน้ำตาตก!!

สคบ. ประกาศผลทดสอบ Huawei Mate 9 หลังถูกผู้ใช้งานรวมพลร้องเรียน งานนี้มีน้ำตาตก!!  

Huawei Mate 9

สวัสดีค่ะเพื่อนๆ หลังจากที่มีประเด็นดราม่าเกิดขึ้นกับผู้ใช้งาน Huawei P10 และ P10 Plus ที่ถูกยัดไส้สเปคหน่วยความจำเกรดต่ำกว่าคละกันมา ทำให้ผู้ใช้งาน Huawei Mate 9 ต้องหันกลับมามองสมาร์ทโฟนรุ่นท็อปที่ตนเองนั้นใช้อยู่เหมือนกัน และจากข้อมูลสเปคหน้าเว็บไซต์ระบุว่า Mate 9 ใช้หน่วยความจำแบบ USF 2.1

แต่เมื่อนำไปทดสอบกลับพบว่ามีคะแนนความเร็วในการอ่านข้อมูลต่ำกว่าเกณฑ์ที่ควรจะได้ ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าตนเองก็โดนหลอกเหมือนกัน จึงได้มีการรวมตัวกันร้องเรียนต่อ สคบ. เพื่อขอความเป็นธรรม ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ได้ออกประกาศเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนของ Huawei Mate 9  กรณีผู้ใช้งานได้รับสินค้าที่มีสเปคไม่ตรงตามที่โฆษณาไว้

opa79lkc9v3969s40aq-o

โดยเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับหน่วยความจำ UFS และความเร็วของหน่วยความจำ ROM พร้อมมีประเด็นสงสัยที่ว่า Mate 9 มีหน่วยความจำ UFS 2.1 จริงหรือไม่ และเหตุใด Mate 9 มีความเร็วของหน่วยความจำ ROM แตกต่างกัน บางเครื่องมีความเร็ว 500 MB/s และบางเครื่องมีความเร็วถึง 800 MB/s

ในประกาศข้างต้น Huawei ชี้แจงต่อ สคบ. ว่าหน่วยความจำ UFS 2.1 และ UFS 2.0 มีอัตราความเร็วเท่าเทียมกัน คือระหว่าง 249.6-583.04 MB/s ซึ่งความแตกต่างเบื้องต้นของหน่วยความจำทั้งสองจะเกี่ยวกับฟังก์ชั่นการดูแลความปลอดภัยของข้อมูล และการอัพเดทเฟิร์มแวร์เป็นต้น และ Mate 9 มีการระบุข้อมูลของหน่วยความจำ UFS 2.1 และ UFS 2.0 ไว้ในโฆษณาจริง

ทั้งนี้ สคบ. ได้มีการทดสอบ Mate 9 โดยผู้เชี่ยวชาญจำนวน 7 เครื่อง และทางผู้เชี่ยวชาญได้สุ่มออกมาจำนวน 3 เครื่อง และรุ่น Mate 9 Pro ก็ถูกนำมาทดสอบด้วยเช่นเดียวกันจำนวน 3 เครื่อง ซึ่งเป็นการทดสอบต่อหน้าผู้เชี่ยวชาญ ผู้ใช้งานที่มาร้องเรียน และ สคบ. แต่กระนั้นการทดสอบดังกล่าวผ่านเกณฑ์ทั้งหมด เนื่องจากทาง Huawei ยึดมาตรฐานความเร็วที่ 500 MB/s ซึ่งความเร็วในเชิงทฤษฏีมาตรฐานของ UFS 2.1 จะอยู่ระหว่าง 249.6-583.04 MB/s

ทั้งนี้ สคบ. ให้เวลา Huawei เป็นเวลา 15 วัน ในการพิจารณาแนวทางเยียวยาผู้ใช้งาน และในส่วนของประเด็นโฆณาเกินจริง โดยทาง Huawei จะต้องส่งเอกสารเรื่องการโฆณาให้ทาง สคบ. ตรวจสอบอีกครั้ง หากผิดจริงจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท และผู้ใช้งานสามารถฟ้องดำเนินคดีทางแพ่งต่อได้

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค