AIS ร่วมกับ Qualcomm ยกระดับความเร็วพัฒนา LTE Advanced ต้อนรับ 5G ในประเทศไทย
เอไอเอส ประกาศความร่วมมือกับบริษัท ควอลคอมม์ เทคโนโลยีส์ อิงค์ ในเครือ ควอลคอมม์ อินคอร์ปอเรทเต็ด พัฒนาเทคโนโลยีเครือข่าย LTE Advanced (LTE-A) พร้อมอุปกรณ์ดีไวซ์ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับ 5G สำหรับประเทศไทย
ช่วงปลายปี 2559 ควอลคอมม์ เอ็นจิเนียริ่ง เซอร์วิส กรุ๊ป (ESG) ได้ร่วมมือกับ เอไอเอส ทดสอบระบบ 256-QAM สำหรับเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ตแบบ Downlink และ 64-QAM เพื่อเชื่อมต่อแบบ Uplink บนเครือข่ายเอไอเอส
ผลทดสอบทั้งขณะเคลื่อนที่และอยู่กับที่พบว่า อัตราการเชื่อมต่อแบบ Downlink เพิ่ม 30% ขณะที่ Uplink เพิ่มขึ้นกว่า 50% และยังพบว่ามีการเพิ่มขึ้นทาง Throughput อย่างเป็นนัยยะสำคัญในส่วนของ Uplink 2x carrier aggregation (UL 2x2CA) ขณะที่มือถือส่งขัอมูลไปเก็บยัง Cloud
โดยทั้งสองบริษัทจะมุ่งเน้นไปที่การสร้าง Mobile ecosystem ในไทย บนเครือข่ายของเอไอเอสซึ่งการจับมือกันของทั้งคู่จะทำให้เดินหน้าไปสู่เทคโนโลยีใหม่ๆอย่าง Downlink 3x carrier aggregation (DL 3xCA) และระบบ 4×4 MIMO
นายสุวิทย์ พฤกษ์วัฒนานนท์ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ บริษัท ควอลคอมม์ อินคอร์ปอเรทเต็ด ได้เผยว่าทาง ควอลคอมม์ มีการดำเนินธุรกิจอยู่สองส่วนหลักๆ คือการพัฒนาชิปเซ็ตบนสมาร์ทโฟนตั้งแต่ระดับ Entry-level จนถึงกลุ่ม Premium ขณะที่อีกส่วนจะเป็นการถือใบอนุญาตพัฒนาชิปเซ็ตที่รองรับเครือข่าย 3G/4G เพื่อจำหน่ายให้แก่แบรนด์ต่างๆ
“ในงาน MWC ที่ผ่านมา เราเพิ่งเปิดตัวชิปเซ็ต Snapdragon 835 นับเป็นรุ่นแรกของโลกที่ใช้ชิปขนาด 10 นาโนเมตร ซึ่งรองรับการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้ง Immersive VR. Connected Cloud Computing, Rich Entertainment, Instant App ที่จะใช้การส่งผ่านข้อมูลปริมาณมหาศาล ซึ่งชิปเซ็ตตัวนี้จะนำไปใช้กับดีไวซ์รุ่นใหม่ๆที่จะเข้ามาในไทย โดยคาดว่าในปีนี้จะมีสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ที่รองรับ LTE-A เข้ามาในตลาดมากกว่า 30%”
นายเกรียงศักดิ์ วาณิชย์นที หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ในเดือนมกราคมที่ผ่านมาเราได้เตรียมความพร้อมรองรับ 5G ด้วยการพัฒนา 4G Massive MIMO 32T32R in FDD ซึ่งปีนี้ได้มีการวางงบลงทุนด้านเครือข่ายไว้ที่ 45,000 ล้านบาท
“สิ่งที่เอไอเอสทำในตอนนี้ คือแผนสำหรับอนาคตที่ไม่มีการประมูลคลื่นความถี่ ทำให้ผู้ให้บริการต้องหาทางนำคลื่นที่มีมาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากการพัฒนาให้รองรับ 32T32R แล้ว ยังมีการทำ Gigabit Mobile Network ที่นำคลื่น 4G มารวมกับ Wi-FI เพิ่มรับ-ส่ง ให้ได้ความเร็ว 1 Gbps ,Gigabit Super Wifi Network ที่ใช้มาตรฐาน 802.11ac wave 2 ครอบคลุมหลายพื้นที่ในหัวเมือง และการทำ NB-IoT สำหรับอุปกรณ์ IoT ซึ่งจะรองรับการใช้งานในยุค 5G ที่จะเกิดในเวลาอันใกล้นี้”
Leave a Reply