แนะนำทริคเล็กๆ ใช้งานโทรศัพท์มือถืออย่างไร ให้ห่างไกลจากรังสีร้ายทำลายสุขภาพ
สวัสดีเพื่อนๆ ผู้ติดตามทุกท่านครับ ในปัจจุบันผู้คนทั่วโลกต่างใช้โทรศัพท์มือถือกันอย่างแพร่หลายมากกว่า 2 พันล้านเครื่อง นั่นจึงทำให้เกิดคำถามสำคัญว่าอุปกรณ์ดังกล่าวส่งผลต่อสุขภาพระยะยาวหรือไม่ ซึ่งวันนี้เรามีบทความดีๆ จาก prayod.com (ประโยชน์ดอทคอม) ที่กล่าวถึงรังสีจากโทรศัพท์มือถือมาฝากให้เพื่อนๆ ได้รับชมกัน
และจากคำตอบที่ทุกคนสงสัยจากข้อมูลระบุว่า โทรศัพท์มือถือสามารถปล่อยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าต่ำๆ อันจะส่งผลต่อสภาวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น อาการคั่นเนื้อครั่นตัว, ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ, ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ในเพศชาย, เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทส่วนกลาง และระบบหลอดเลือดหัวใจ, เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบความจำ การรับรู้ สมาธิ และการทำงานของสมอง, เพิ่มความดันโลหิต, เป็นอันตรายต่อผิวหนัง, เกิดการเปลี่ยนแปลงของเม็ดเลือดแดง เป็นต้น
เนื่องจากมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขพากันกังวล แม้จะพบว่าคนเพียงส่วนน้อยที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว แต่ประเด็นการใช้โทรศัพท์มือถือก็เป็นหัวข้อทางสาธารณสุขด้านระบาดวิทยาได้ และต่อไปนี้จึงเป็นข้อแนะนำเพื่อช่วยให้เพื่อนๆ ได้รับรังสีจากโทรศัพท์มือถือน้อยลง
ระยะเวลาและความถี่ในการโทรศัพท์
มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาในการโทรศัพท์ และ/หรือความถี่ในการใช้โทรศัพท์กับการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพ
คำแนะนำ : ใช้โทรศัพท์มือถือเพียงช่วงเวลาสั้นๆ และพูดคุยเท่าที่จำเป็น เมื่อมีโทรศัพท์เรียกเข้าก็พยายามรับสายให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และถ้าเป็นไปได้ให้กลับไปใช้โทรศัพท์ตั้งโต๊ะแทน
ระยะห่าง
ความเข้มของรังสีที่กระจายออกมาสัมพันธ์โดยตรงกับระยะห่างระหว่างโทรศัพท์กับผู้ใช้ นั่นคือยิ่งตัวเราอยู่ห่างจากหูฟังมากเท่าไรเราก็จะยิ่งได้รับรังสีน้อยลงเท่านั้น รังสีจากแหล่งต่างๆ เป็นไปตามกฎยกกำลังผกผัน นั่นคือ ยิ่งเราอยู่ห่างจากต้นกำเนิด เราก็จะยิ่งได้รับรังสีน้อยลงตามระยะทางจากแหล่งกำเนิดยกกำลังสอง
คำแนะนำ : ใช้ระบบขยายเสียงหรือหูฟังในขณะสนทนา เพื่อเพิ่มระยะห่างระหว่างผู้ใช้และตัวเครื่อง
เสารับสัญญาณ
ชนิดของเสารับสัญญาณโทรศัพท์ของเราอาจมีผลต่อปริมาณรังสีที่แผ่ออกมา เสารับสัญญาณโทรศัพท์ที่ไม่สามารถยืดออกมาได้ จะมีอันตรายมากกว่าชนิดที่ยืดออกมาให้เห็น เพราะมันจะปล่อยพลังงานเข้าสู่สมองของผู้ใช้
คำแนะนำ : เลือกใช้โทรศัพท์ที่มีเสาสัญญาณยืดออกมา
เส้นทางส่งสัญญาณ
โครงสร้างเหล็กกล้าของยานพาหนะและอาคารจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาเกราะไฟฟ้า หรือกรงฟาราเดย์ (Faraday cage) ผลที่เกิดขึ้นคือ หากมีการใช้โทรศัพท์มือถือในยานพาหนะหรืออาคารที่ปิดสนิท จะทำให้โทรศัพท์ต้องเพิ่มพลังงานในการเชื่อมต่อสัญญาณ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นการเพิ่มการกระจายรังสี รายงานจาก House of Common (United Kingdom) Science and Technology System พบว่า การใช้โทรศัพท์มือถือในยานพาหนะแบบปิด เพิ่มระดับรังสีได้มากขึ้นถึง 10 เท่า
คำแนะนำ : หากจะใช้โทรศัพท์ในยานพาหนะ ให้เปิดกระจกหน้าต่าง จะช่วยให้การรับสัญญานดีขึ้น และลดการใช้พลังงานด้วย
ระบบของโทรศัพท์
โทรศัพท์มือถือจะกระจายรังสีสูงสุดเมื่อโทรศัพท์กำลังเชื่อมต่อสัญญาณ เมื่อมีการใช้โทรศัพท์ขณะกำลังเคลื่อนที่ โทรศัพท์ก็จะยังคงเชื่อมสัญญาณกับเสาสัญญาณ ซึ่งการแผ่รังสีในช่วงเคลื่อนที่จะยิ่งรุนแรงขึ้นตามลักษณะเส้นทางการส่งสัญญาณ (ดูเพิ่มเติมในข้อ 4)
คำแนะนำ : เมื่ออยู่ในยานพาหนะ ให้พยายามหลีกเลี่ยงการเปิดโทรศัพท์มือถือ ถ้าไม่ได้กำลังรอสายเรียกเข้าหรือจะใช้โทรศัพท์
การพกพาโทรศัพท์
หลีกเลี่ยงการพกโทรศัพท์มือถือในขณะเปิดเครื่องแนบไว้กับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่าใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อ หรือเหน็บไว้กับเอว เพราะรังสีทะลุผ่านเนื้อเยื่ออ่อนต่างๆ ได้ง่าย เช่น เนื้อเยื่อหัวใจ ตับ ไต ลำไส้เล็ก หรืออวัยวะสืบพันธุ์ ถ้าเป็นส่วนสมอง กะโหลกศีรษะอาจช่วยป้องกันได้บ้าง จากรายงานของสหพันธ์เศรษฐศาสตร์พบว่าสมาชิก 3 คนของหน่วยควบคุมลับแห่งหน่วยตำรวจรอยัลอูลสเตอร์แห่งสหราชอาณาจักรเสียชีวิตฉับพลันจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งสมาชิกของหน่วยดังกล่าวสวมเครื่องส่งสัญญาณวิทยุ และเครื่องส่งสัญญาณไมโครเวฟบริเวณหลังส่วนล่างเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง
คำแนะนำ : ผู้หญิงควรใส่โทรศัพท์ในกระเป๋าถือ และถือห่างจากร่างกาย ผู้ชายไม่ควรพกโทรศัพท์ที่เปิดพร้อมใช้ในกระเป๋าเสื้อหรือกระเป๋ากางเกง
ผู้สวมแว่นตา
House of Common (United Kingdom) Science and Technology System รายงานว่าผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่สวมแว่นตากรอบโลหะ จะรับรังสีเข้าสู่ดวงตาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 และที่สมองร้อยละ 6.3
คำแนะนำ : ให้ถอดแว่นตาออกหากจะรับหรือใช้โทรศัพท์มือถือ หรือให้ใส่คอนแทกต์เลนส์ขณะใช้โทรศัพท์มือถือ
เสาสัญญาณ
นอกเหนือจากระยะห่างของเสาสัญญาณแล้ว จำนวนเซลล์ (ในเขตพื้นที่ให้บริการจะถูกแบ่งออกเป็นเขตเล็กๆ ซึ่งเรียกว่า เซลล์) ยังเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพลังงานของโทรศัพท์ที่จะใช้ในการเชื่อมต่อและส่งสัญญาณ ยิ่งมีจำนวนเซลล์น้อย และระยะห่างจากเสาสัญญาณมาก พลังงานและการกระจายรังสีก็จะยิ่งมากขึ้น เพื่อที่จะยังคงการเชื่อมต่อกับชุมสายได้
คำแนะนำ : โทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่จะแสดงระดับสัญญาณขณะเปิดเครื่อง เมื่อจะใช้โทรศัพท์ ให้สังเกตระดับสัญญาณ ถ้าสัญญาณน้อยให้คุยระยะสั้นๆ เท่าที่จำเป็น แล้วค่อยเชื่อมต่ออีกครั้งเมื่อเข้าสู่พื้นที่ที่มีระดับสัญญาณมากขึ้น
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพประกอบ prayod.com
Leave a Reply