Huawei เปิดตัวระบบปฏิบัติการใหม่ HarmonyOS มอบประสบการณ์การใช้งานเหนือระดับในทุกจังหวะชีวิต
หัวเว่ยนำเสนอ “HarmonyOS” ที่พร้อมจะมอบประสบการณ์การใช้งานที่ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพในทุกๆ อุปกรณ์ที่รองรับและในทุกๆ สถานการณ์ ณ งาน Huawei Developer Conference โดยระบบปฏิบัติการใหม่ HarmonyOS เป็นระบบแบบกระจาย (Distributed Operating System) ซึ่งใช้ Microkernel ในจัดการทรัพยากรระบบ
ริชาร์ด หยู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป กล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลังการพัฒนาระบบปฏิบัติการนี้ว่า “โลกของเรากำลังก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาที่ผู้บริโภคต้องการประสบการณ์การใช้งานจากสิ่งต่างๆ ที่อัจฉริยะและเป็นองค์รวม จากข้อเท็จจริงนี้ หัวเว่ยจึงตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบปฏิบัติการที่จะสามารถรองรับการทำงานบนอุปกรณ์ที่หลากหลายได้ เราจึงต้องการที่จะพัฒนาระบบปฏิบัติการให้สามารถใช้งานได้ในทุกสถานการณ์ รองรับการทำงานกับแพลตฟอร์มและอุปกรณ์หลากประเภท และต้องตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงต้องมีความปลอดภัยกับผู้บริโภคอีกด้วย”
“สิ่งที่กล่าวข้างต้นนั้น คือเป้าหมายของการพัฒนา HarmonyOS ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่มีความแตกต่างกับระบบปฏิบัติการ Android และ iOS เนื่องจาก HarmonyOS มีพื้นฐานการจัดการระบบแบบ Microkernel และเป็นระบบแบบกระจาย (Distributed Operating System) ทำให้ระบบปฏิบัติการ HarmonyOS สามารถมอบประสบการณ์การใช้งานที่ยอดเยี่ยมได้ในทุกจังหวะของชีวิต
นอกจากนี้ยังเป็นระบบปฏิบัติการที่มีความแข็งแกร่ง มีความปลอดภัยสูง และสามารถใช้งานข้ามอุปกรณ์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ นักพัฒนาซอฟต์แวร์จึงไม่จำเป็นต้องออกแบบแอพลิเคชั่นสำหรับอุปกรณ์ที่แตกต่างกัน เพราะออกแบบเพียงครั้งเดียวก็สามารถเข้ากับอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ HarmonyOS ได้ทุกประเภท” ริชาร์ด หยู กล่าวเสริม
ในปัจจุบัน ผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการมักจะนำเสนอระบบปฏิบัติการใหม่ของตนพร้อมกับฮาร์ดแวร์ที่รองรับ และตลอดทศวรรษที่ผ่านมา หัวเว่ยตระหนักดีว่าโลกในยุคอนาคตจะเป็นโลกที่ทุกอุปกรณ์และทุกกิจกรรมที่ผู้บริโภคทำจะเชื่อมโยงเข้ากันเป็นหนึ่งเดียว หัวเว่ยจึงพยายามค้นหาวิธีที่จะช่วยยกระดับประสบการณ์การใช้งานของผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้งานอุปกรณ์อัจฉริยะได้อย่างไร้ขีดจำกัด
HarmonyOS เป็นระบบปฏิบัติการที่เรียบง่ายแต่เปี่ยมประสิทธิภาพ โดยหัวเว่ยจะเริ่มต้นใช้ระบบปฏิบัติการนี้กับอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ เช่น สมาร์ทวอช (Smart Watch) สมาร์ททีวี (Smart Screen) ระบบอินโฟเทนเมนท์ในรถยนต์ (In-Vehicle Systems) และลำโพงอัจฉริยะ หัวเว่ยคาดหวังว่าการพัฒนาระบบปฏิบัติการนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคที่ใช้งานผลิตภัณฑ์หัวเว่ย ได้รับประสบการณ์การใช้งานอุปกรณ์ได้อย่างต่อเนื่อง มีความปลอดภัย และรองรับการใช้งานกับทุกๆ อุปกรณ์
HarmonyOS มีคุณสมบัติเด่น 4 ประการ ได้แก่
1. ทำงานได้อย่างต่อเนื่องในทุกอุปกรณ์
HarmonyOS เป็นระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ทดีไวซ์ระบบแรกที่เป็นระบบแบบกระจาย (Distributed Operating System) จึงสามารถทำงานได้กับทุกอุปกรณ์ HarmonyOS เป็นระบบปฏิบัติการที่สามารถรองรับคุณสมบัติอันชาญฉลาด ทั้ง Shared Communications Platform, Distributed Data Management, Distributed Task Scheduling, และ Virtual Peripherals
นอกจากนี้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณสมบัติต่างๆ ของแอพพลิเคชั่นได้อย่างเต็มที่ โดยไม่จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดเชิงลึกของการพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้เหมาะสมกับอุปกรณ์รุ่นต่างๆ อีกทั้งยังช่วยให้การจัดจำหน่ายหรือการนำเสนอแอพพลิเคชั่นสำหรับอุปกรณ์ประเภทต่างๆ เป็นไปโดยง่าย เพราะระบบปฏิบัติการนี้มีสถาปัตยกรรมของระบบปฏิบัติการเป็นแบบ Distributed OS และรองรับเทคโนโลยี Distributed Virtual Bus โดยแอพพลิเคชั่นสำหรับระบบปฏิบัติการนี้จะสามารถใช้งานกับอุปกรณ์ที่แตกต่างกันได้อย่างต่อเนื่อง
2. ทำงานได้อย่างลื่นไหลบนเทคโนโลยี Deterministic Latency Engine และ high-performance IPC
HarmonyOS ใช้เทคโนโลยี Deterministic Latency Engine และ High-Performance Inter Process Communication (IPC) เพื่อการทำงานที่ลื่นไหล โดยเทคโนโลยี Deterministic Latency Engine จะช่วยจัดลำดับคำสั่งที่ต้องทำงานก่อนและตั้งกรอบเวลาสำหรับการทำงานของคำสั่งต่างๆ ไว้ล่วงหน้าได้
ช่วยให้ทรัพยากรของระบบสามารถจัดการกับการทำงานที่สำคัญกว่าได้ก่อน ลดอาการหน่วงของแอพพลิเคชั่นลงได้ถึง 25.7% นอกจากนี้ Microkernel ที่หัวเว่ยใช้ยังสอดคล้องกับเทคโนโลยี IPC ส่งผลให้ประสิทธิภาพของ IPC สูงกว่าระบบปฏิบัติการอื่นๆ ถึง 5 เท่า
3. ความปลอดภัยสูง: สร้างนิยามใหม่ของความปลอดภัยตั้งแต่แกนระบบ จากการใช้ Microkernel
HarmonyOS ใช้สถาปัตยกรรม Microkernel แบบใหม่ล่าสุด ที่มีความปลอดภัยสูงและทำงานได้ลื่นไหลกว่าเดิม และช่วยให้การพัฒนาเคอร์เนลระบบเป็นไปโดยง่ายขึ้น เนื่องจาก Microkernel จะทำหน้าที่ในการพัฒนาเคอร์เนลระบบให้สามารถรองรับการทำงานที่สำคัญได้ เช่น การกำหนดลำดับการทำงานของคำสั่งต่างๆ บนเธรด (Thread) และระบบ IPC
Microkernel ของระบบปฏิบัติการ HarmonyOS มีระบบการยืนยันแบบ Formal Verification ที่ทำงานบน Trusted Execution Environment (TEE) อันเป็นแนวคิดใหม่ของระบบความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือของระบบ
โดยระบบการยืนยันแบบ Formal Verification นั้นทำงานโดยอาศัยการสร้างโมเดลข้อมูลเพื่อตรวจสอบทุกส่วนของซอฟต์แวร์ และใช้กลไกทางคณิตศาสตร์เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของระบบตั้งแต่แหล่งที่มา ซึ่งแตกต่างจากระบบการยืนยันแบบเดิม เช่น แบบ Functional Verification หรือ แบบ Attack Simulation ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบความปลอดภัยได้อย่างเต็มรูปแบบ
HarmonyOS เป็นระบบปฏิบัติแรกที่มีระบบการยืนยันแบบ Formal Verification ที่ทำงานบน TEE ซึ่งยกระดับความปลอดภัยให้สูงขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะระบบปฏิบัติการนี้มีจำนวนบรรทัดของโค้ดที่ใช้ในการพัฒนาน้อยกว่าระบบปฏิบัติการอื่นๆ เนื่องจากการใช้ระบบ Microkernel มีจำนวนบรรทัดโค้ดที่น้อยกว่าระบบปฏิบัติการที่พัฒนาจาก Linuxkernel ถึง 1 ต่อ 1,000 ทำให้ HarmonyOS มีช่องโหว่ของระบบน้อยกว่าระบบปฏิบัติการอื่นอย่างมาก
4. พัฒนาแอพลิเคชั่นเพียงครั้งเดียวก็ใช้งานได้ทุกอุปกรณ์ ด้วย Multi-Device IDE
HarmonyOS รองรับระบบ Multi-Device IDE ซึ่งเป็นระบบที่รองรับภาษาคอมพิวเตอร์หลากหลายภาษาและมีสถาปัตยกรรมที่รองรับการพัฒนาแอพพลิเคชั่นแบบเฉพาะ ตัวระบบปฏิบัติการจึงสามารถปรับขนาดให้เหมาะสมกับหน้าจอ ตัวป้อนคำสั่ง หรือเครื่องมือสำหรับการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ที่แตกต่างกันได้โดยอัตโนมัติ
อีกทั้งยังรองรับทั้งการลากและวาง รวมไปถึงการพรีวิวซอฟต์แวร์แบบเสมือนจริงในขั้นตอนการพัฒนาอีกด้วย นักพัฒนาซอฟต์แวร์จึงสามารถลดเวลาที่ต้องใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้รองรับทุกอุปกรณ์ได้ เพราะระบบ Multi-device IDE ช่วยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถเขียนชุดคำสั่งเพียงครั้งเดียวก็นำซอฟต์แวร์ของตนไปใช้งานได้กับทุกอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ HarmonyOS อีกทั้งยังช่วยยกระดับการทำงานกับอุปกรณ์ที่หลากหลายอย่างไร้รอยต่อไปอีกขั้น
Huawei ARK Compiler เป็นคอมไพเลอร์แบบ Static ตัวแรกที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ Virtual Machine ของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ซึ่งจะช่วยให้นักพัฒนาสามารถรวบรวมโค้ดที่ซับซ้อนมาเพื่อให้ระบบแปลงเป็นโค้ดที่เรียบง่ายสำหรับการทำงานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว Huawei ARK Compiler จึงเอื้อประโยชน์ให้กับนักพัฒนาเป็นอย่างมาก
แผนการสำหรับนักพัฒนาและกระบวนการสร้าง Ecosystem
ในโอกาสเดียวกันนี้ หัวเว่ยยังนำเสนอแนวทางการพัฒนาทั้ง HarmonyOS และเคอร์เนลของระบบ โดย HarmonyOS เวอร์ชั่น 1.0 จะติดตั้งในผลิตภัณฑ์สมาร์ททีวี (Smart Screen) ของหัวเว่ย ที่จะวางจำหน่ายภายในปีนี้ และภายใน 3 ปีข้างหน้า หัวเว่ยคาดว่าจะพัฒนาระบบปฏิบัติการนี้ให้สามารถทำงานกับสมาร์ทดีไวซ์ได้หลากประเภท เช่น Wearable, Huawei Vision และระบบปฏิบัติการภายในรถยนต์
แน่นอนว่าความสำเร็จของ HarmonyOS ขึ้นอยู่กับการสร้าง Ecosystem ของทั้งแอพลิเคชั่นและนักพัฒนา หัวเว่ยจึงจะนำเสนอระบบปฏิบัติการนี้เป็นแบบเปิดสำหรับนักพัฒนาทั่วโลก นอกจากนี้หัวเว่ยยังจะตั้งกองทุนและชุมชนนักพัฒนาแบบเปิด เพื่อสร้างความร่วมมือเชิงลึกกับนักพัฒนาอีกด้วย
สาธารณรัฐประชาชนจีน มีฐานผู้ใช้งานและ Ecosystem ของแอพพลิเคชั่นที่แข็งแกร่งมาก หัวเว่ยจึงจะวางรากฐานของระบบปฏิบัติการนี้ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนจะขยายออกไปยังตลาดอื่นทั่วโลก โดยหัวเว่ยพร้อมจะสร้างและสานต่อคุณค่าใหม่ๆ ให้กับระบบปฏิบัติการนี้ผ่านการร่วมพัฒนาและแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านต่างๆ ทั้งคุณสมบัติการเชื่อมต่อ กล้อง และปัญญาประดิษฐ์ (AI) หัวเว่ยจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาบริการและแอพลิเคชั่นเพื่อมอบทั้งประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้และสร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรม
HarmonyOS จะนำประโยชน์ที่หลากหลายมาสู่ผู้ใช้งาน ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ และนักพัฒนา โดยผู้บริโภคจะได้สัมผัสประสบการณ์การใช้งานที่เปี่ยมพลังและไร้รอยต่อตลอดทุกจังหวะของชีวิต ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์จะสามารถพัฒนาฮาร์ดแวร์ที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น 5G, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ IoT ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น และสำหรับนักพัฒนา จะสามารถเข้าถึงผู้ใช้จำนวนมากโดยใช้ต้นทุนน้อยลง และยังทำงานได้รวดเร็วขึ้น
ริชาร์ด หยู กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “หัวเว่ยเชื่อมั่นว่าระบบปฏิบัติการ HarmonyOS จะยกระดับอุตสาหกรรมและเติมเต็ม Ecosystem ไปอีกขั้น โดยเป้าหมายของเราคือการช่วยให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์การใช้งานที่หลากหลาย และเปี่ยมประสิทธิภาพ ในโอกาสนี้ เราขอเชิญชวนนักพัฒนาจากทั่วโลกร่วมพัฒนาระบบปฏิบัติการนี้ร่วมไปกับเรา เพราะหากเราร่วมมือกัน เราจะสามารถส่งมอบประสบการณ์การใช้งานที่เหนือระดับในทุกจังหวะชีวิตสู่ผู้ใช้งานทั่วโลกได้”
Leave a Reply