เผยสาเหตุ Galaxy Note7 ลุกไหม้! มาจากดีไซน์เครื่องที่จำกัด และฟีเจอร์ที่อัดแน่นเกินไป

เผยสาเหตุ Galaxy Note7 ลุกไหม้! มาจากดีไซน์เครื่องที่จำกัด และฟีเจอร์ที่อัดแน่นเกินไป

Samsung Galaxy Note7

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Samsung ได้ทำการเปิดตัว Galaxy Note7 เรือธงตระกูล Galaxy Note รุ่นใหม่ของค่าย โดยมาพร้อมฟีเจอร์การใช้งานที่จัดเต็ม มีฟีเจอร์สแกนม่านตาสุดล้ำ พร้อมตัวเครื่องเฉดสีใหม่ฟ้า Blue Coral แต่ทว่าหลังจากนั้นไม่นานได้เกิดปัญหาโด่งดังไปทั่วโลกถึงกรณีผู้ใช้หลายรายประสบปัญหา Galaxy Note7 ลุกไหม้ขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ

Samsung Galaxy Note7

จนทำให้ยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้ต้องเรียกอุปกรณ์คืนเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จากนั้นไม่นาน Samsung ได้ส่งมอบอุปกรณ์ให้แก่ผู้ใช้งานอีกครั้งโดยมีการแก้ไขปัญหาแบตเตอรี่ที่ทาง Samsung SDI เป็นผู้ผลิตเกิดความผิดพลาด ไม่ได้มาตรฐาน และคาดว่าน่าจะเป็นสาเหตุหลักกรณี Galaxy Note7 ลุกไหม้

แต่หลังจากส่งมอบเครื่องล็อตที่ 2 กลับพบว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่จบสิ้น ยังพบปัญหาซ้ำๆ จนท้ายที่สุดแล้ว Samsung ตัดสินใจขั้นเด็ดขาดด้วยการยุติวางจำหน่าย Galaxy Note7 ถาวรทั่วโลก และสาเหตุที่ทำให้ Galaxy Note7 ลุกไหม้ก็ยังเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานทั่วโลกสงสัยอยู่ ล่าสุดองค์กร Instrumental ก็ได้ค้นพบสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง

Samsung Galaxy Note7

ซึ่งได้นำ Samsung Galaxy Note7 มาตรวจสอบด้วยเครื่องมือที่มีมาตรฐาน พร้อมระบุว่าปัญหาที่เกิดขึ้นสาเหตุที่แท้จริงมาจากดีไซน์ที่บางเกินไปทั้งภายนอก และภายในที่มีส่วนทำให้แบตเตอรี่ระเบิดขึ้นได้แม้จะใช้งานปกติ และการที่ Samsung ต้องการตอบโจทย์ผู้ใช้งานด้วยแบตเตอรี่ความจุสูง พร้อมกับอัดฟีเจอร์สเปคต่างๆ มาแบบเต็มเหนี่ยว ในสภาพการออกแบบตัวเครื่องที่บางเกินไป และมีขนาดจำกัด

ส่งผลให้แบตเตอรี่ขั้วบวกที่ทำมาจาก Lithium Cobalt Oxide และชั้นของขั้วลบที่ทำมาจาก Graphite และคั่นระหว่างขั้วทั้งสองด้วย Electrolyte-soaked จำนวน 2 ชั้นที่ทำมาจาก Polymer อันเป็นวัสดุเคมีใกล้กันมากเกินไป พลังงานที่ไหลเข้าไปในชั้น Polymer เกิดความร้อนสูงขึ้น ใช้พลังงานมากขึ้นจนเป็นเหตุให้แบตเตอรี่ระเบิดในที่สุด

Samsung Galaxy Note7

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ขั้วบวกและขั้วลบสัมผัสกันมากเกินไปมาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ชั้นของ Electrolyte-soaked ผลิตด้วยความบางมากเกินไป และปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้แบตเตอรี่บวม ไม่ว่าจะเป็นการกดทับแผงหลังตัวเครื่อง ความดันที่มากพอควรจะทำให้ชั้นของขั้วบวกและลบสัมผัสกันได้ นอกจากนี้ช่องว่างระหว่างขอบของเครื่อง และแบตเตอรี่ที่เหลือพื้นที่น้อยก็เป็นเหตุให้มีการกระทบกระเทือนเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ Instrumental ยังระบุอีกด้วยว่า Samsung มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในช่วงที่กำลังวิจัยพัฒนา หรือกระบวนการผลิตแบตเตอรี่อาจมีเวลาทดสอบที่น้อยเกินไป ท้ายสุดแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นกับ Galaxy Note7 จะมีสาเหตุมาจากเรื่องใดกันแน่ เราคงต้องรอแถลงการณ์อย่างเป็นทางการจาก Samsung เร็วๆ นี้

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ instrumental, www.phonearena.com