เผยผลสำรวจ 5 กิจกรรมยอดนิยมในการใช้สมาร์ทโฟนของวัยรุ่นไทย
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ, ดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาร่วมแถลงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนของวัยรุ่นไทย
แบบสำรวจผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-25 ปี ไม่จำกัดวุฒิ จำนวน 1,076 คน ในระหว่างวันที่ 9-15 พฤษภาคม 2557 ที่เสพติดการใช้โทรศัพท์เคลื่อนจนทำให้ดูเหมือนกลายเป็นสังคมคนก้มหน้า เพราะสมาร์ทโฟนเหล่านั้นแทบจะส่วนหนึ่งของชีวิตวัยรุ่นทำให้เบียดเบียนเวลาในการปฏิบัติภารกิจประจำวันและการออกกำลังกาย ด้วยความเป็นห่วงสุขภาพและสุขภาพจิตจากหลายส่วน สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาได้สำรวจพฤติกรรมดังกล่าวเพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนดำเนินการกำหนดนโยบายป้องกัน-แก้ไข-ลดปัญหาและผลกระทบต่างๆ ที่เกิดจากการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทสมาร์ทโฟน และเป็นข้อมูลประกอบให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองได้ศึกษาทำความเข้าใจพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทสมาร์ทโฟน ของบุตรหลาน
ศ.ศรีศักดิ์ กล่าวสรุปว่าจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,076 คน สามารถสรุปผลได้ดังต่อไปนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 50.84 ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 49.16 เป็นเพศชาย นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 38.1 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 19 ถึง 22 ปี ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าแล้วซึ่งคิดเป็นร้อยละ 32.53
ในด้านพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทสมาร์ทโฟนนั้น กิจกรรมที่กลุ่มตัวอย่างนิยมทำผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทสมาร์ทโฟนสูงสุด 5 กิจกรรม ได้แก่
– ติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ คิดเป็นร้อยละ 83.83
– เข้าระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหาข้อมูล/รับ-ส่งอิเมล คิดเป็นร้อยละ 81.88
– รับ/ส่งข้อความ/ภาพ/คลิป คิดเป็นร้อยละ 79.83
– ติดต่อพูดคุย คิดเป็นร้อยละ 77.7
– เล่นเกม คิดเป็นร้อยละ 73.88
ส่วนช่วงเวลาที่กลุ่มตัวอย่างนิยมใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทสมาร์ทโฟนมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ ช่วงเวลาว่างจากการเรียน/ทำงาน คิดเป็นร้อยละ 87.27 ช่วงก่อนเข้านอนตอนค่ำ/หลังตื่นนอนตอนเช้า คิดเป็นร้อยละ 84.57 และระหว่างการเดินทางบนพาหนะต่าง ๆ คิดเป็นร้อยละ 82.62 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 75.46 และร้อยละ 71.65 นิยมใช้ในระหว่างการรับประทานอาหารและระหว่างการเรียน/การทำงานตามลำดับ
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เกือบหนึ่งในสามระบุว่าเคยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทสมาร์ทโฟนติดต่อกันนานที่สุดเป็นระยะเวลาประมาณ 60 นาทีซึ่งคิดเป็นร้อยละ 30.02 รองลงมาร้อยละ 25.84 เคยใช้ติดต่อกันนานที่สุดประมาณ 45 นาที ขณะที่ช่วงเวลาระหว่างหลังตื่นนอนตอนเช้าจนถึงก่อนเข้านอนตอนกลางคืน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทสมาร์ทโฟนขึ้นมาดู/ใช้ทุก 1 ชั่วโมงซึ่งคิดเป็นร้อยละ 41.17 ส่วนกลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 31.41 ระบุว่าตนเองหยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทสมาร์ทโฟนขึ้นมาดู/ใช้ในทุก ๆ ครึ่งชั่วโมงหรือบ่อยกว่านั้น ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบระหว่างการหยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทสมาร์ทโฟนขึ้นมาดูก่อนหรือหลังการทำธุระส่วนตัวเมื่อตื่นนอนนั้น กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 63.29 ยอมรับว่าตนเองมักหยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทสมาร์ทโฟนขึ้นมาดูก่อนการทำธุระส่วนตัว (ล้างหน้า อาบน้ำ แปรงฟัน เปลี่ยนเสื้อผ้า)
ในด้านความคิดเห็นต่อการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทสมาร์ทโฟน กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 59.57 คิดว่าตนเองเป็นคนติดการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทสมาร์ทโฟน ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 34.85 ระบุว่าตนเองจะรู้สึกหงุดหงิดหากไม่ได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทสมาร์ทโฟนทำกิจกรรมต่าง ๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2 – 3 วัน รองลงมาร้อยละ 25.19 ระบุว่าเพียงวันเดียว
นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 47.77 ระบุว่าการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทสมาร์ทโฟนไม่เคยส่งผลให้ลืมทานข้าวเช้า/กลางวัน/เย็นอย่างน้อยมื้อใดมื้อหนึ่ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 30.38 ยอมรับว่าเคยบ้างเป็นบางครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 45.54 และร้อยละ 44.42 ยอมรับว่าการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทสมาร์ทโฟนเคยส่งผลให้เข้าเรียน/เข้างานสายและเคยส่งผลให้เดินทางไปถึงเวลานัดหมายกับผู้อื่นช้ากว่าเวลานัดบ้างเป็นบางครั้งตามลำดับ
ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ 58.83 และร้อยละ 54.93 มีความคิดเห็นว่าการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทสมาร์ทโฟนในปัจจุบันไม่ส่งผลให้มีผลการเรียน/การทำงานโดยรวมแย่ลงและไม่ส่งผลให้มีสมาธิในการเรียน/การทำงานลดลง แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.2 ยอมรับว่าการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทสมาร์ทโฟนส่งผลให้ตนเองมีสมาธิในการเรียน/การทำงานลดลง และร้อยละ 31.32 ยอมรับว่าส่งผลให้มีผลการเรียน/การทำงานแย่ลง และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 48.61 ยอมรับว่าการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทสมาร์ทโฟนในปัจจุบันส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเพิ่มมากขึ้น
ที่มา flashfly
Leave a Reply