รุ่ง หรือ ร่วง? กรณีศึกษาแอปฯ TikToK ลุยธุรกิจสมาร์ทโฟนเครื่องแรก
สวัสดีเพื่อนๆ ชาว ninethaiphone ทุกท่าน วันนี้เราได้ไปเจอบนความดีๆ เกี่ยวกับแอปฯ TikTok หนึ่งในแอปพลิเคชันยอดนิยมที่มีการเติมโตแบบก้าวกระโดด กับการเดินเกมครั้งสำคัญในการประกาศเปิดวางขายสมาร์ทโฟนที่รองรับการใช้งานแอปฯ TikTok โดยเฉพาะ มาเป็นกรณีศึกษาให้เพื่อนๆ ได้เรียนรู้ไปพร้อมกันครับ
แอปฯ TikTok มาพร้อมกับลักษณะการใช้งานที่มีจุดเด่นในการสร้างคลิปวิดีโอสั้นๆ พร้อมใส่เพลงประกอบและเทคนิคการตกแต่งต่างๆ ลงไปได้ โดยเจ้าของแพลตฟอร์มนี้คือ ByteDance บริษัทเทคโนโลยีจากประเทศจีน ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2012 และเพิ่งเปิดให้บริการ TikTok เมื่อ 4 ปีที่แล้ว
จากแนวโน้มของผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่เปลี่ยนการแชร์เรื่องราวในชีวิตจากตัวหนังสือและรูปภาพ มาเป็นคลิปวิดีโอสั้นมากขึ้นทำให้ TikTok ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยแอปถูกดาวน์โหลดไปแล้วมากกว่า 1,500 ล้านครั้งทั่วโลกและมีผู้ใช้งานประจำ (Active Users) อยู่ราว 800 ล้านบัญชีต่อเดือน
รายได้หลักของ TikTok มาจากค่าโฆษณา บนฐานผู้ใช้แอปขนาดใหญ่ จึงทำให้บริษัท ByteDance เติบโตแบบก้าวกระโดด
– ปี 2017 รายได้ 76,000 ล้านบาท
– ปี 2018 รายได้ 217,000 ล้านบาท
– ปี 2019 ตั้งเป้ารายได้ 516,000 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ในการระดมทุนรอบล่าสุดบริษัทจึงถูกประเมินมูลค่าธุรกิจไว้ที่ 2,356,000 ล้านบาท ถือเป็นสตาร์ตอัปยูนิคอร์นที่ใหญ่สุดของโลก จะเห็นได้ว่า ByteDance ประสบความสำเร็จในธุรกิจโซเชียลมีเดียในระยะเวลาอันสั้น แต่คำถามที่น่าคิดคือ แล้วบริษัทมีแผนจะทำอะไรต่อไป?
ในเดือนพฤศจิกายน 2019 ที่ผ่านมาพวกเขาตอบคำถามนี้ ด้วยการประกาศเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นแรกของตัวเอง โดย ByteDance ร่วมมือกับ Smartisan บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือสร้างสมาร์ทโฟนชื่อว่า Smartisan Jianguo Pro 3 ออกวางขายในตลาดประเทศจีน
แต่สิ่งที่พิเศษกว่าสมาร์ทโฟนเครื่องอื่นๆ คือจะมีการติดตั้งแอป TikTok เอาไว้ตั้งแต่แรก และเพียงแค่ปัดหน้าจอ เราก็สามารถเข้าแอปได้ทันที อีกทั้งตัวเครื่องยังถูกออกแบบให้รองรับการเล่นโซเชียลมีเดีย ที่เน้นถ่ายรูปและอัดคลิปวิดีโอ ไม่ว่าจะเป็น
– หน้าจอขนาด 6.39 นิ้ว
– RAM 8GB/12GB
– กล้องหลัง 4 ตัว โดยกล้องหลักมีความละเอียด 48MP
– กล้องหน้ามีความละเอียด 20MP
– แบตเตอรี่ความจุ 4000 mAh
หากลองเปรียบเทียบกับแบรนด์อื่น เช่น iPhone 11 Pro Max
– หน้าจอขนาด 6.5 นิ้ว
– RAM 4GB
– กล้องหลัง 3 ตัว และกล้องหน้า มีความละเอียด 12MP
– แบตเตอรี่ความจุ 3969 mAh
และนอกจากคุณภาพที่ดีแล้ว ราคาขายก็ยังถูกอีกด้วย Jianguo Pro 3 ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 12,500 บาท ขณะที่ iPhone 11 Pro Max ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 39,900 บาท
ซึ่งเหตุผลที่ ByteDance ทำสมาร์ทโฟนเครื่องนี้ออกมาก็เพื่อต้องการดึงดูดให้ผู้คนมาใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์มตัวเองนานที่สุด อย่างไรก็ตามคงต้องรอดูกันว่ามันจะเป็นไปตามแผนหรือไม่ เพราะในอดีตเคยมีคนใช้กลยุทธ์นี้แต่กลับล้มเหลวไม่เป็นท่านั่นคือ Facebook
เมื่อปี 2013 Facebook เคยร่วมมือกับ HTC ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากไต้หวัน สร้างสมาร์ทโฟนชื่อ HTC First ซึ่งมีชื่อเล่นว่า Facebook Phone เพราะออกแบบมาเพื่อการใช้งานแอปของ Facebook โดยเฉพาะ แต่เพียงแค่ 1 เดือน ก็ถูกยกเลิกการผลิต เนื่องจากกระแสตอบรับเรื่องคุณภาพไม่ค่อยดี ขายได้ 15,000 เครื่องเท่านั้น และเมื่อปี 2014 Amazon ก็เคยวางขายสมาร์ทโฟนชื่อว่า Fire Phone เช่นกัน แต่ก็ถูกยกเลิกการผลิตหลังผ่านไป 1 ปี
ดูเหมือนว่าขณะนั้นผู้บริโภคจะอยากใช้สมาร์ทโฟนที่คุณภาพดี แล้วโหลดแอปพลิเคชันต่างๆ มาใช้อย่างหลากหลายมากกว่า แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีที่พัฒนาไปจนสามารถผลิตสมาร์ทโฟนคุณภาพดี ในราคาไม่แพงอาจทำให้ ByteDance เดินเกมได้ถูกเวลาก็เป็นได้
คนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้นผู้นำตลาดโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook ที่จะถูกแย่งเวลาบนหน้าจอมือถือไป ซึ่งในขณะเดียวกันทาง Facebook ก็ได้แก้เกมด้วยการขยายฟีเจอร์ MUSIC ในลักษณะคล้ายกับ TikTok ออกมาเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดเอาไว้
การแข่งขันกันระหว่าง 2 บริษัทนี้ น่าติดตามว่าจะทำให้โซเชียลมีเดียในยุคหน้า เปลี่ยนไปในรูปแบบไหน
– รูปแบบใหม่อาจทำให้ผู้คนสามารถสร้างสรรค์ผลงานตามจินตนาการได้อย่างไร้ขีดจำกัด
– รูปแบบใหม่อาจทำให้โซเชียลมีเดียในยุคนี้กลายเป็นดูล้าสมัย
ซึ่งไม่ว่าใครจะชนะในการต่อสู้ครั้งนี้โลกจริงของเรา น่าจะถูกโลกโซเชียลเหล่านี้ แย่งเวลามากขึ้นเช่นกัน
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ longtunman
Leave a Reply