ย้อนรอย! จุดพลิกผันที่ทำให้อดีตยักษ์ใหญ่อย่าง Nokia ต้องล้มเหลว
สวัสดีค่ะเพื่อนๆ หลังจากที่ห่างหายจากวงการมือถือสมาร์ทโฟนไปสักระยะ ล่าสุดก็เริ่มมีข่าวออกมาแล้วว่าอดีตยักษ์ใหญ่อย่าง Nokia เตรียมฟื้นคืนชีพอีกครั้งด้วยฝีมือของ HMD Global ยักษ์ใหญ่ของวงการโทรคมนาคมจากประเทศฟินแลนด์ ที่หันไปจับมือทำธุรกิจสมาร์ทโฟนกับ FIH Mobile คู่ค้ารายใหญ่ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Foxconn และได้มีประกาศออกมาแล้วว่า Nokia จะกลับคืนสู่สังเวียนประเดิมด้วยการเปิดตัวสมาร์ทโฟน
และแท็บเล็ต 3-4 รุ่น ภายใต้ระบบปฏิบัติการ Android ในช่วงปลายปีนี้ พร้อมทั้งมีสเปคการใช้งานและข่าวคราวมือถือสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่เผยออกมาเป็นระยะๆ ในช่วงนี้ แต่ก็ยังมีผู้สงสัยและข้องใจอยู่ว่าด้วยเหตุใดในอดีต Nokia ต้องขายกิจการบางส่วนให้กับ Microsoft วันนี้เราจึงจะขอพาเพื่อนๆ ไปย้อนรอยเรื่องราวในอดีตของ Nokia เราไปติดตามเนื้อหาที่ได้รวบรวมมากันเลยค่ะ
หลายข้อสงสัยว่าเพราะเหตุใด Nokia บริษัทระดับตำนานที่มีอายุมานานนับ 100 ปี ต้องขายกิจการบางส่วนให้กับ Microsoft ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์รายใหญ่ระดับโลก ในราคา 240,000 ล้านบาท เพื่อต่อลมหายใจให้กับตนเอง ขณะเดียวกันหลังจากเข้าซื้อกิจการได้ทันไร Microsoft ไม่รีรอที่จะปล่อยเวลาให้ล่วงเลย
โดยในวันที่ 25 เมษายน 2557 บริษัท Microsoft ได้เริ่มก่อตั้งบริษัทโทรคมนาคมในชื่อ Microsoft Mobile เป็นเหตุให้ Microsoft เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท Nokia พร้อมกับเป็นผู้ถือเอกสิทธ์ในการผลิตและเป็นผู้พัฒนาสินค้า โดย Microsoft ได้มัดมือ Nokia ให้เซ็นสัญญาสำคัญในการผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกเครื่องนับจากนี้ด้วยการยัดระบบปฎิบัติการ Windows Phone เท่านั้น
นับว่าเป็นการตอกย้ำความล่มสลายของ Nokia ได้ไม่น้อยเลย หากจะย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของความล้มเหลวของ Nokia ที่มีต้นตอมาจากการให้ Stephen Elop อดีตผู้บริหาร Microsoft เข้ามาคุมธุรกิจโทรศัพท์มือถือ จากนั้นเป็นต้นมาโครงสร้างต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจของ Nokia เริ่มอลหม่านขึ้น
มีการโอนกรรมสิทธิ์รวมถึงอำนาจการบริหารให้กับ Microsoft ทำให้ Stephen Elop สามารถทำทุกอย่างกับผลิตภัณฑ์ได้ แต่นั่นนับเป็นจุดเริ่มต้นที่เหมือนกับการขุดหลุมฝัง Nokia ในไม่ช้า เนื่องด้วยวิสัยทัศน์ของ Stephen Elop ไม่มีแววเห็นเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิคของสมาร์ทโฟนที่กำลังจะเข้ามาครองตลาดแทนมือถือฟีเจอร์โฟน (ไม่มีหัวธุรกิจในด้านนี้)
ถัดมาคือระบบระบบปฎิบัติการ Symbian ที่ถูกพัฒนาโดย Symbian Ltd. และในขณะนั้นระบบปฎิบัติการรุ่นดังกล่าวได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แม้จะมีความซับซ้อนและความลำบากไม่น้อยในการใช้งาน แต่เนื่องมาจากความเป็นอิสระในการใช้งานที่ตอบโจทย์ในวงกว้าง ทำให้มือถือของ Nokia โดดเด่น และโลดแล่นกว่ามือถือเจ้าอื่นๆ ในช่วงนั้น
และการพัฒนาระบบ S60 2nd Edition นับว่าเป็นการตอกย้ำถึงความสำเร็จของระบบปฎิบัติการที่มีศักยภาพสูงขึ้นได้เป็นอย่างดี แต่หลังจากรุ่งโรจน์มาได้สักระยะ ระบบ S60 3rd Edition ที่มาพร้อมระบบป้องกันภัย Symbian Signed กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ Nokia ค่อยๆ ปลิวหายไปอย่างคาดไม่ถึง
ซึ่งระบบป้องกันภัย Symbian Signed มาพร้อมเงื่อนไขสำหรับผู้พัฒนามากมายผ่านการ Sign ก่อนที่จะให้ผู้ใช้งานสามารถลงได้ ทั้งยังมีการเข้าสู่ระบบเชิงลึกที่มีกระบวนการซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากขึ้นไปอีก ยกตัวอย่างเช่น การซื้อใบรับรองจากผู้ให้บริการเสียก่อน ทั้งยังต้องการส่งหลักฐานมากมายในราคาที่สูงลิบลิ่วอีกด้วย
ขณะเดียวกันโปรแกรม Symbian ที่ปกติก็มีการใช้งานที่ซับซ้อนอยู่แล้วทำให้ผู้ใช้งานถึงกับขยาดกันมากขึ้นไปอีก ส่งผลให้แบรนด์ต่างๆ ทำการหยุดป้อนแอพฯ ให้กับ Symbian ไปโดยปริยาย ถึงแม้ว่าช่วงหลังๆ จะมีการออกเวอร์ชั่นใหม่ๆ เพื่อต่อลมหายใจให้กับตัวเอง แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่สามารถตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้ได้อีกเลย
ทางด้าน Nokia จึงเริ่มเบนเข็มจากเดิมที่มีความสนใจในระบบ Symbian มาให้ความความสนใจกับระบบปฏิบัติการ Windows Phone แทน ซึ่งคาดหวังว่าตนเองจะลงบุกตลาดสมาร์ทโฟนกับเขาบ้าง แต่ยิ่งหาหนทางมากเท่าไหร่ยิ่งเหมือนการหนีเสือปะจระเข้ เนื่องจากระบบ Windows Phone ที่ตนเองหวังไว้ว่าจะสามารถกู้สถานการณ์ให้กับ Nokia กลับทำได้ไม่ดีอย่างที่หวังเอาไว้
เพราะในช่วงเวลานั้นระบบปฏิบัติการ iOS และระบบ Android เป็นผู้ถือครองตลาดส่วนใหญ่ รวมถึงผู้ใช้งานส่วนใหญ่ก็มีความนิยมในการใช้งาน ทำให้ระบบ Windows Phone เหมือนเป็นแกะดำไม่เข้าพวก ด้วยเหตุผลหลายประการไม่ว่าจะเป็นการอัพเดทที่ล่าช้าไม่ทันใจผู้ใช้งาน หรือจะเป็นการไม่รองรับฟังก์ชั่นหลายๆ อย่างแบบที่ควรจะทำได้
ถึงแม้ว่าระบบ Windows Phone ช่วงหลังๆ จะมีการพัฒนาระบบให้มีการรองรับการใช้ฟังก์ชั่นที่มากยิ่งขึ้น รวมถึงมีการอัพเดทที่รวดเร็วกว่าเดิม แต่ก็ไม่อาจทวงความมั่นใจ และความประทับใจจากผู้ใช้งานได้อีกต่อไป ทำให้มูลค่าของระบบ Windows Phone เริ่มหมดราคาลงอย่างเห็นได้ชัดเจน เพราะผู้ใช้งานส่วนใหญ่เข้าหา และสนับสนุนระบบปฏิบัติการ iOS และระบบ Android มากกว่า
เนื่องด้วยสภาพที่เริ่มคืบคลานเข้าสู่ความวิกฤตนับตั้งแต่สมัยผู้บริหารคนใหม่ของ Microsoft ที่เข้ามาธุรกิจโทรศัพท์มือถือของ Nokia ด้วยความไม่มีความแตกฉานในการดำเนินธุรกิจ จนเริ่มทำให้โครงสร้างธุรกิจส่วนนี้ของ Nokia เริ่มเสียรูปขบวน อีกทั้งยังละทิ้งระบบปฎิบัติการที่ทาง Nokia ได้ถือเป็นต้นแบบสำคัญอย่างระบบปฏิบัติการ Symbian
และหันมาทุ่มทุนสร้างกับระบบปฏิบัติการ Windows Phone ที่ถูกออกแบบมาให้โอนเอนไปตามตามกระแสนิยมของผู้ใช้งาน ผิดกับคู่แข่งที่สร้างปรากฏการณ์ พร้อมนำเสนอสมาร์ทโฟนที่โด่งดังในปัจจุบันอย่าง สตีฟ จอบส์ ซึ่งเรียกได้ว่าเขาเป็นนักธุรกิจต้นแบบอย่างแท้จริง ที่เริ่มด้วยการมองหากำไรจากกระเป๋าเงินของผู้อื่น ภายใต้วิสัยทัศน์ที่สังเกตเห็นความเป็นไปของเทคโนโลยี ที่สนองตอบความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างแท้จริง
รวมไปถึงมีการพัฒนาอุปกรณ์ที่มาพร้อมนวัตกรรมที่น่าสนใจอยู่เสมอๆ ด้วยความคิดที่ก้าวล้ำของ สตีฟ จอบส์ ทำให้เขาก้าวหน้า และเบียดรุ่นเก๋าอย่าง Nokia ลงแบบไม่เป็นท่า ซึ่งกลเม็ดสำคัญของเขาก็คือการดึงใจผู้ใช้งานด้วยการเชื่อมโยงเทคโนโลยีเข้ากับชีวิตคนอย่างกลมกลืน ตัดกลับมาด้าน Nokia ที่ยังคงให้ความสำคัญกับความสำเร็จในอดีต
ที่ยังไม่มีการพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ เพื่อผู้ใช้งานแต่อย่างใด ประกอบกับอุปกรณ์ของ Nokia ก็ยังคงรูปแบบเดิมๆ ถึงแม้ว่าจะสร้างสมาร์ทโฟนขึ้นมา แต่ความนิยมของสมาร์ทโฟนไร้ปุ่มกดก็เทไปยังฝั่ง Apple ของ สตีฟ จอบส์ มากกว่า และที่สำคัญ Nokia ได้ละทิ้งระบบปฎิบัติการที่พัฒนามาตั้งแต่ต้นจนเสียอัตลักษณ์ จึงเป็นเหตุให้ยุครุ่งเรืองของ Nokia ต้องเป็นอันปิดฉากลงจนน่าเสียดาย
อย่างไรก็ตาม 5 ตุลาคม 2554 สตีฟ จอบส์ ได้เสียชีวิตลงจากปัญหาด้านสุขภาพเรื้อรัง ทำให้บริษัท Apple ขาดแม่ทัพใหญ่ในการนำศึก และอุปกรณ์ต่างๆ ของ Apple ที่เปิดตัวออกมาภายหลังจากที่ สตีฟ จอบส์ ได้เสียชีวิตลง เห็นได้ชัดว่ายังขาดการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัดเหมือนกับเดินย่ำอยู่กับที่ อุปกรณ์ของค่ายคู่แข่งก็ดูเหมือนว่าจะพัฒนาไปไกลกว่ามาก จึงสะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของ Apple ที่กำลังมีความสั่นคลอน
ในเวลาเดียวกันทางฝั่งของ Nokia ที่กำลังจะหมดสัญญากับทางฝั่งของ Microsoft ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2016 นี้ เริ่มมีแผนจะพัฒนาสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตระบบปฏิบัติการ Android เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งานในปัจจุบัน และคาดกันว่าการกลับมาในครั้งนี้ Nokia จะฟื้นตำนานด้วยการนำอดีตที่ล้มเหลว และข้อผิดพลาดต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมาปรับใช้เพื่อความสำเร็จในอนาคตก็เป็นได้
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ www.blognone.com, bansornmagazine
Leave a Reply