CAT เผยผลประกอบการ 10 เดือนแรก ฟันกำไรกว่า 3,200 ล้านบาท
พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กล่าวว่าหลังจากสัมปทาน 2 บริษัท คือ ทรูมูฟและดีพีซีสิ้นสุดในปี 2556 CAT ได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาผลประกอบการ โดยปัจจุบันดำเนินการในรูป 6 กลุ่มธุรกิจ คือ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจเสาโทรคมนาคม ธุรกิจอินเทอร์เน็ตเกตเวย์-เคเบิลใต้น้ำ ธุรกิจโมบายล์ ธุรกิจไอดีดี-บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต และ กลุ่มไอทีเซอร์วิส
ผลประกอบการในปี 2558 CAT ยังคงรักษาระดับรายได้และกำไรสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยมีรายได้
10 เดือนแรกรวมกว่า 43,500 ล้านบาท กำไร 3,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็นจำนวน 1,300 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 3,500 ล้านบาท ทั้งนี้ส่วนใหญ่ของรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายส่ง HSPA ที่ใช้ความจุโครงข่ายสร้างรายได้ถึง 21,300 ล้านบาท ประกอบด้วยขายส่ง MVNO และรายได้อื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บริการโรมมิ่งในประเทศ และบริการโครงข่ายร่วม รองมาคือดาต้าคอมและบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทำรายได้ 4,800 ล้านบาท เป็นผลจากการขยายพอร์ตเสริมด้วยการรีแบรนด์บริการ C-Internet เพิ่มความสามารถในการแข่งขันส่งผลให้ลูกค้าเพิ่มจำนวนเป็น 100,000 พอร์ต บริการ my สร้างรายได้ 950 ล้านบาท นอกจากนั้นบริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์และเคเบิลใต้น้ำมีรายได้ 1,000 ล้านบาท บริการ IDD 2,600 ล้านบาท บริการไอทีเซอร์วิส 640 ล้านบาท และสัมปทาน TAC 9,800 ล้านบาท โดยเมื่อไม่รวมสัมปทาน TAC เป็นรายได้จากการดำเนินงานของ CAT เองทั้งสิ้น 33,700 ล้านบาท หรือคิดเป็น 77 % ของรายได้รวมซึ่งแสดงถึงศักยภาพขององค์กรที่สามารถดำเนินธุรกิจเลี้ยงตัวเองได้
นอกจากรายได้เพิ่มทำให้กำไรเพิ่มขึ้นแล้วยังเกิดจากการบริหารควบคุมค่าใช้จ่ายของปี 2558 ตามนโยบาย คนร. ที่ให้ลดค่าใช้จ่าย 10 % โดย 10 เดือนแรกค่าใช้จ่ายบุคลากรลดลงจากช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว 200 ล้านบาท ประมาณการรายได้สิ้นปี 2558 CAT จะมีรายได้รวม 53,500 ล้านบาท สูงกว่าเป้าซึ่งตั้งไว้ที่ 52,700 ล้านบาทอยู่ราว 800 ล้านบาท ส่วนประมาณกำไรสิ้นปี 3,400 ล้านบาท ต่ำกว่าแผนประมาณ 1,000 ล้านบาท
เหตุจากค่าเช่าโครงข่ายที่ CAT ต้องจ่ายให้กับ BFKT เพื่อให้บริการขายส่ง HSPA ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจาซื้อคืนระบบสื่อสัญญาณ โดยคาดว่าเมื่อซื้อคืนระบบฯได้จะช่วยลดต้นทุนส่วนนี้ และส่งผลให้ CAT มีผลประกอบการ
ดีขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2559
ขณะเดียวกันในอีก 2 เดือนท้ายของปีนี้ CAT ได้เร่งผลักดันการสร้างรายได้จากการใช้โครงข่ายให้คุ้มกับค่าใช้จ่าย ทั้งจากพันธมิตร MVNO ที่เพิ่มขึ้น 2 รายคือ ดาต้า ซีดีเอ็มเอ คอมมูนิเคชั่น และ สามารถ ไอโมบาย รวมทั้งรายได้อื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้โครงข่าย ซึ่งคาดว่าจะช่วยผลักดันให้ตัวเลขกำไรสูงขึ้นกว่าที่ประมาณสิ้นปีและเป็นไปตามเป้าของแผนธุรกิจ
สำหรับประมาณการรายได้สิ้นปี 2558 เทียบกับรายได้รวมปี 2557 ที่มีรายได้ 55,500 ล้านบาทนั้น
ส่วนที่ลดลงประมาณ 2000 ล้านบาทเป็นรายได้สัมปทาน TAC ซึ่งลดลงจากการที่ลูกค้าย้ายไป DTN
อย่างไรก็ดี รายได้ดังกล่าวเป็นสัมปทานซึ่ง CAT ต้องนำส่งเงินให้กับ กสทช. ตามมาตรา 84 วรรคสามของพ.ร.บ.กสทช. จึงถือเป็นค่าใช้จ่ายและไม่มีผลต่อกำไรที่จะมากขึ้นของ CAT แต่อย่างใด ขณะที่ตัวเลขกำไร
ของ CAT ประมาณการในสิ้นปีนี้ 3,400 ล้านบาทค่อนข้างใกล้เคียงกับปี 2557 ซึ่งมีกำไร 3,500 ล้านบาท สำหรับเป้าหมายผลประกอบการในปี 2559 รายได้หลักยังคงมาจากการขายส่งความจุโครงข่าย HSPA โดยคาดว่าจะมีรายได้ 52,800 ล้านบาท
การพัฒนาบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G
CAT ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่วิทยุ 1800 MHz (Upper Band) เพื่อพัฒนาบริการโทรศัพท์ เคลื่อนที่บนเทคโนโลยี 4G ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการจัดหาพันธมิตรธุรกิจเพื่อจัดสร้างโครงข่ายระบบ LTE
และให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนเทคโนโลยี 4G โดยมีแผนจัดสร้างโครงข่าย 4G ในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่นทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนจะขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัดในระดับอำเภอรวมทั้งพื้นที่สำคัญต่างๆ เช่น สนามบิน มหาวิทยาลัย นิคมอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เป็นต้น โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการภายในปี 2559 ใน 2 รูปแบบ คือ การให้บริการภายใต้แบรนด์ my และการขายส่งให้กับผู้ประกอบการ MVNO
ความคืบหน้าในการร่วมทุน / ข้อพิพาทกับ TRUE และ DTAC
TRUE กันยายน 2558 CAT ได้ทำหนังสือขอให้กลุ่มบริษัท ทรู แต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาเพื่อเจรจากับ CAT เพื่อหาข้อสรุป/ข้อยุติในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างกัน ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมากลุ่มบริษัท ทรูฯ ได้มีหนังสือแจ้งแต่งตั้งคณะผู้เจรจาฯ เพื่อเจรจากับคณะกรรมการเจรจาของ CAT เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าจะได้ความคืบหน้าในการเจรจาหาข้อยุติเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ในส่วนของข้อพิพาทระหว่าง CAT กับ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (มหาชน) ประกอบด้วยการพิจารณาการซื้อคืนระบบสื่อสัญญาณ (Transmission) จากบริษัท บีเอฟเคทีฯ แนวทางการแก้ไขปัญหาและการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินสัมปทานของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด เช่น เสาโทรคมนาคม การให้เช่าอุปกรณ์สัมปทาน 2G รวมถึงการระงับข้อพิพาทอื่นๆ
DTAC มีนาคม 2558 – CAT สามารถเจรจายุติข้อพิพาทกับ DTAC ด้วยความสอดคล้องกับหลักการของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โดย DTAC ยินยอมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในเสาโทรคมนาคมและอุปกรณ์ที่พิพาทให้แก่ CAT เพื่อร่วมกันจัดตั้งเป็น Tower JV Co และ Fiber JV Co ซึ่งเป็นการสนับสนุนนโยบาย”ดิจิทัล อีโคโนมี” ของรัฐบาลในส่วนของ “อินฟราสตรัคเจอร์แชร์ริ่ง” ที่ให้นำสินทรัพย์โทรคมทั้งของรัฐและเอกชนมารวมกันหรือร่วมทุนกันจัดทำเป็นทาวเวอร์โค ให้เอกชนเช่าใช้เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนและเกิดความคล่องตัวในการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยคณะกรรมการ กสท ได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2558 นอกจากนี้ CAT ยังคงเดินหน้าร่วมกับ DTAC แก้ไขสัญญาสัมปทานเพื่อระงับข้อพิพาทที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้จะต้องดำเนินการตาม พรบ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของภาครัฐเป็นสำคัญ โดยขณะนี้ CAT ได้นำส่งข้อมูลผลการเจรจาให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วได้แก่ กระทรวงการคลัง คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อพิจารณาเห็นชอบ
FACT SHEET – ผลประกอบการปี 2558
ตุลาคม 2558 : รายได้ 43,500 ลบ. กำไร 3,200 ลบ.
ประมาณการสิ้นปี 2558 : รายได้รวม 53,500 ล้านบาท / กำไร 3,400 ล้านบาท
เปรียบเทียบรายได้ (10 เดือน) กับปี 2557
ตุลาคม 2558 : รายได้ 43,500 ลบ. กำไร 3,200 ลบ.
(ตุลาคม 2557 : รายได้ 39,950 ลบ. กำไร 1,859 ลบ.)
สรุป – รายได้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน 3,500 ลบ. กำไรเพิ่มขึ้น 1,350 ลบ. หรือเพิ่ม 73 %
การเติบโตของผลกำไร : ที่มา
1. รายได้ขายส่ง HSPA เรียลมูฟ เพิ่มขึ้น 2,300 ลบ.
หักลบ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากค่าเช่าโครงข่าย BFKT ประมาณ 500 ล้านบาท
2. ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานอื่นๆ ลดลง
– 10 เดือน ลดค่าใช้จ่ายบุคลากรต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 200 ลบ.
รายละเอียดผลดำเนินงาน 10 เดือน (มค.-ต.ค 58)
รายได้ที่เพิ่มขึ้นหลักๆ มาจาก
– ขายส่ง HSPA 21,300 ลบ. เพิ่มขึ้น 2,300 ล้านบาท
– บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต เพิ่มขึ้น 250 ล้านบาท
(เกิดจากการขยายพอร์ตเสริมด้วยการรีแบรนด์บริการ C-Internet เพิ่มความสามารถในการแข่งขันส่งผลให้
ลูกค้าเพิ่มจำนวนเป็น 100,000 พอร์ต)
– บริการ my 950 ลบ. เพิ่มขึ้น 210 ล้านบาท
– สัมปทาน TAC 9,800 ลบ. เพิ่มขึ้น 1,200 ล้านบาท
– อินเทอร์เน็ตเกตเวย์และเคเบิลใต้น้ำ 1,000 ลบ.
– IDD 2,600 ลบ.
– ไอทีเซอร์วิส 640 ลบ. เพิ่มขึ้น 60 ล้านบาท
เป้าหมายปี 2559 : รายได้รวม 52,800 ล้านบาท / กำไร 86 ล้านบาท
CAT เดินหน้าธุรกิจไร้สาย สร้างรายได้กว่า 2 หมื่นล้าน
พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการบริษัทรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) เปิดเผยว่า CAT มีรายได้จากธุรกิจไร้สายในช่วง 10 เดือนมากกว่า 22,400 ล้านบาท ประกอบด้วยบริการรขายส่ง HSPA 21,300 ล้านบาทส่วนใหญ่คือเรียลมูฟ, รายได้จากบริการข้ามเครือข่าย
ในประเทศ (Domestic Roaming) 3,600 ล้านบาท, บริการ my 950 ล้านบาท, การใช้โครงข่ายร่วม 400 ล้านบาท และ ทรังก์โมบายล์ 200 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าสิ้นปีนี้ธุรกิจไร้สายจะทำรายได้ตามเป้าหมาย 26,500 ล้านบาท
กลุ่มธุรกิจไร้สายยังเป็นรายได้หลักขององค์กร โดยคาดว่าปีหน้าจะทำรายได้ 24,800 ล้านบาท
ส่วนใหญ่ยังมาจากรายได้การขายส่ง MVNO ซึ่งปรับลดลงเล็กน้อยในส่วนของขายส่งให้กับเรียลฟิวเจอร์
ขณะที่บริการ my มีแนวโน้มทำรายได้สูงขึ้น บวกกับบริการเกี่ยวเนื่องกับโครงข่ายฯ ที่สร้างรายได้ต่อเนื่อง
หนุน MVNO รายใหม่เตรียมเปิดบริการปลายปีนี้
รายได้จากธุรกิจ MVNO นอกจากเรียลมูฟ และ 168 คอมมูนิเคชั่นแล้ว ในปีนี้ได้มีผู้สนใจร่วมเป็นพันธมิตร MVNO เพิ่มขึ้น คือ ดาต้า ซีดีเอ็มเอ คอมมูนิเคชั่น และ สามารถ ไอโมบาย ซึ่งจะทยอยเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2558 จนถึงไตรมาสแรกปีหน้า ทั้งนี้ CAT ในฐานะผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ได้ขายส่งบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Wholesale) ให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (Mobile Virtual Network Operator : MVNO) เพื่อเติมเต็มการใช้งานโครงข่าย มุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยเข้าสู่ตลาด ส่งเสริมการแข่งขันเสรีและเพิ่มทางเลือกใหม่ให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มากยิ่งขึ้น
my เติบโตยอดผู้ใช้บริการทะลุเป้า
my ประสบความสำเร็จสามารถเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการสูงกว่าเป้าหมาย โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ 1,130,000 เลขหมาย แบ่งเป็นเติมเงินประมาณ 1,000,000 เลขหมาย และรายเดือน 130,000 เลขหมาย ซึ่งลูกค้าที่เพิ่มส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่และวัยทำงาน เป็นผลจากในปี 2558 my สามารถสร้างการรับรู้เพิ่มขึ้นด้วยกลยุทธ์สร้างการรับรู้แบรนด์ผ่านสื่อต่างๆ โดยเน้นแพ็คเกจที่คุ้มค่าตอบโจทย์การใช้งานและความต้องการของคนไทยทุกกลุ่ม ควบคู่กับทำตลาดลงพื้นที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหัวเมืองทุกภูมิภาคทำให้ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งการบอกต่อในกลุ่มของผู้ใช้บริการที่สร้างความเชื่อมั่นและหันมาใช้บริการ my เพิ่มขึ้น
ล่าสุด my ยังได้ออกแคมเปญโฆษณาชุดใหม่ภายใต้คอนเซ็ปต์ “my 3G เพื่อคนไทยโดนใจเว่อร์” ชูแพ็คเกจเบอร์สวย และแพ็คเกจเน้นอินเทอร์เน็ต 7 GB เพื่อกระตุ้นตลาดลูกค้ารายเดือนในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงต้นปีหน้า ควบคู่กับมีแผนรุกตลาดด้านช่องทางจำหน่ายเพื่อเข้าถึงลูกค้าในทุกพื้นที่จากปัจจุบัน 1,000 จุด ตั้งเป้าขยายไม่ต่ำกว่า 5,000 จุด ภายในสิ้นปี 2558 และมากกว่า 10,000 จุดทั่วประเทศภายในไตรมาสแรกของปีหน้า โดยจะใช้งบประมาณมากกว่า 200 ล้านบาทมุ่งเน้นการโฆษณาประชาสัมพันธ์แพ็คเกจโปรโมชั่น พร้อมกับสร้างการรับรู้แบรนด์อย่างต่อเนื่องในรูปแบบหลากหลาย ทั้ง Below the line และ Above the line ขณะที่จุดเติมเงินของ my ปัจจุบันครอบคลุมทุกช่องทาง อาทิ 7-อีเลฟเว่น โลตัส บิ๊กซี ตู้ ATM ตู้เติมเงินออนไลน์ เว็บไซต์ และ โมบายล์แอพพลิเคชั่น ฯลฯ
Leave a Reply