ทำความรู้จัก! หน้าจอสมาร์ตโฟนประเภทต่าง ๆ มีจุดเด่นอะไรบ้าง และแบบไหนดีกว่า มาดูกันเลย

ทำความรู้จัก! หน้าจอสมาร์ตโฟนประเภทต่าง ๆ มีจุดเด่นอะไรบ้าง และแบบไหนดีกว่า มาดูกันเลย

Display

สวัสดีเพื่อน ๆ ผู้ติดตาม ninethaiphone ทุกท่านค่ะ ? วันนี้เรามีบทความ How To ทำความรู้จักหน้าจอสมาร์ตโฟนประเภทต่าง ๆ มาฝากให้ได้ชมกัน โดยจะพาเพื่อน ๆ ไปดูกันว่าในปัจจุบันชนิดจอแสดงผลที่นิยมนำมาใช้กับมือถือสมาร์ตโฟนนั้นมีแบบไหนบ้าง แต่ละแบบมีจุดเด่นอย่างไร และแบบไหนดีกว่ากัน

ซึ่งการแข่งขันของตลาดสมาร์ตโฟนในขณะนี้นอกจากจะโน้มน้าวผู้ใช้งานในส่วนของขนาดและความละเอียดของหน้าจอแล้ว ชนิดของจอที่นำมาใช้กับสมาร์ตโฟนก็สำคัญ เนื่องจากส่งผลต่อการแสดงผลบนหน้าจอ รวมถึงความคมชัดสีสดใสด้วย หน้าจอแต่ละชนิดทำให้ผู้ใช้งานได้รับอรรถรสในการใช้งานที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น การดูหนัง, ท่องอินเทอร์เน็ต, รับชม YouTube หรือเล่นเกม เป็นต้น

โดยวันนี้เราได้เลือกหน้าจอที่มักจะถูกนำมาใช้กับสมาร์ตโฟนอย่างหน้าจอ TFT,  IPS, LCD, OLED, AMOLED และ Super AMOLED มาให้ชมกัน ส่วนจะมีอะไรน่าสนใจบ้างนั้น เราไปชมรายละเอียดทั้งหมดกันเลยค่ะ

smartphone

หน้าจอ TFT 

สำหรับหน้าจอ TFT (Thin Film Transistor) มักนิยมนำไปใช้กับสมาร์ตโฟนระดับล่างราคาประหยัด จอคมชัดแต่ไม่มาก หน้าจอมีการตอบสนองต่อการแสดงผล ข้อด้อย คือ จะใช้พลังงานไฟฟ้าค่อนข้างมาก อาจกินพลังงานแบตเตอรี่พอสมควร

TFT คือทรานซิสเตอร์ที่มีฟิล์มขนาดบางเป็นสารตั้งต้น โครงสร้างหลักเป็นแผ่นแก้วบาง ๆ สองแผ่นประกบกัน ระหว่างแผ่นแก้วมี Liquid Crystal แทรกอยู่ มีจำนวนพิกเซลมาก แต่ละจุดใช้สำหรับแสดงผล มักถูกนำไปใช้คู่กับหน้าจอ LCD และหน้าจอแบบ AMOLED กับ LCD ส่วนใหญ่ก็มีเลเยอร์ TFT เป็นส่วนประกอบด้วย

หน้าจอ IPS

มาพูดถึงหน้าจอ IPS (In-Plane Switching) ชนิดหน้าจอยอดนิยมที่ถูกนำไปกับสมาร์ตโฟนหลายรุ่นกันต่อเลยค่ะ สำหรับ IPS เป็นหน้าจอที่ให้สีสันสวยงาม เลเยอร์ขนาดบางแสดงผลต่อเม็ดพิกเซลชัดเจน สามารถเล่นเกมเอฟเฟ็กต์สวย ๆ ได้ ให้มุมมองที่กว้างสะดวกต่อการมองเห็น ตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว ภาพที่เห็นสวยคมชัดเป็นธรรมชาติ

หน้าจอ LCD

หน้าจอ LCD (Liquid Crystal Display) ใช้พลังงานน้อยแต่ให้การแสดงผลที่ชัดเจน สีสันสวยงาม ใช้การแสดงผลแบบดิจิตอล วัตถุมีลักษณะเป็นของเหลวแทนการใช้หลอดภาพแบบหน้าจอ CRT ในสมัยก่อน ใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ในการสร้างแสงไฟ

เป็นจอที่ทำมาจากผลึกคริสตัลเหลวมีไฟส่องสว่างจากไฟ Backlight ที่ฉายผ่านชั้นกรองแสง เมื่อมีการปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปกระตุ้นผลึกก็จะทำให้เกิดการโปร่งแสง ส่วนที่โดนผลึกปิดกั้นจะให้สีที่แตกต่างกันตามสีของผลึกคริสตัล ไม่ว่าจะเป็น สีแดง เขียว และน้ำเงิน หน้าจอมีความสว่างและคมชัด

หน้าจอ OLED

หน้าจอ OLED (Organic Light-Emitting Diode) คือ ไดโอดเปล่งแสงชีวภาพเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในการแสดงผล มีคุณสมบัติยืดหยุ่น บางรุ่นสามารถพับงอได้ จอมีความบางเบากว่าหน้าจอทั่ว ๆ ไป ทั้งยังสามารถประหยัดพลังงานมากกว่า

มีการเปล่งแสงเมื่อได้รับกระแสไฟฟ้า ไม่ต้องใช้ไฟ LED สีดำแสดงผลได้คมชัดสมจริง ส่วนสีขาวแสดงผลได้สว่างกว่า มีอัตราการตอบสนองที่รวดเร็ว ให้มุมมองการแสดงผลที่กว้าง ไม่มีแผงไฟ Backlight มาปิดกั้นสเกลการแสดงผล มักถูกนำไปใช้กับสมาร์ตโฟนรุ่นท็อป ๆ ข้อด้อย คือ ระยะเวลาการใช้งานเม็ดสีที่มีข้อจำกัด อาจส่งผลให้การแสดงผลของสีจะผิดเพี้ยนไปบ้าง

หน้าจอ AMOLED

หน้าจอ AMOLED (Active Matrix Organic Light Emitting Diode) มีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์มบางมีวงจรในตัวเอง สามารถควบคุมภาพได้เองภายในชั้นฟิล์ม ให้สีสันภาพคมชัด ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจาก OLED หน้าจอมีความสว่าง มีความบาง สามารถขับเฉดสีได้สมจริง

มีการควบคุมการจ่ายกระแสไฟฟ้าของแต่ละพิกเซลให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ต้องใช้ไฟ Backlight ส่องสว่างจากด้านหลัง เนื่องจากมีแสงในตัวเอง มักถูกนำไปใช้ในสมาร์ตโฟนรุ่นสเปคดีหรือระดับท็อปหลายรุ่นในตลาด

หน้าจอ Super AMOLED

หน้าจอ Super AMOLED มักเห็นถูกนำไปใช้กับเรือธง หน้าจอมีความสวยสดใสคมชัด มากกว่าหน้าจอแบบ AMOLED ทั่วไป แสดงสีได้ถูกต้อง เพิ่มความจัดจ้านของสีสันมากยิ่งขึ้น ภาพสวยสมจริง จอมีความสว่าง บางทีอาจจะสดเกินไปเลยด้วยซ้ำ ให้มุมมองกว้าง ภาพคมชัด ข้อดี คือประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานน้อย รุ่นเรือธงสเปคท็อป ๆ มักจะใช้หน้าจอชนิดนี้เช่นกัน

Phone

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับบทความหน้าจอสมาร์ตโฟนประเภทต่าง ๆ ที่นิยมใช้กับสมาร์ตโฟนที่เราได้นำมาฝากกันในวันนี้ ซึ่งหน้าจอที่เราเห็นบ่อย ๆ ก็จะเป็น TFT มักถูกนำไปใช้กับสมาร์ตโฟนระดับล่าง หรือระดับเริ่มต้นราคาไม่แพง

หน้าจอ IPS ที่นิยมใช้กับสมาร์ตโฟนระดับกลาง และหน้าจอ AMOLED กับ Super AMOLED มักเห็นบ่อยในสมาร์ตโฟนรุ่นท็อปสเปคดี ๆ หรือรุ่นเรือธง ชนิดของหน้าจอมีส่วนสำคัญในเรื่องของการแสดงผล การมองเห็นภาพที่ได้รับอรรถรสดีในการใช้งาน

เอาไว้โอกาสหน้าเราจะมีบทความทริคอะไรดี ๆ มาฝากกันอีก ฝากเพื่อน ๆ ติดตามชมกันด้วย และหากใครมีคำถามข้อสงสัยใดอยากให้แนะนำเพิ่มเติมก็ร่วมแสดงความคิดเห็นกันได้เลยค่ะ 🙂