ด่วน!! สหภาพฯ ทีโอที ยื่นหนังสือถึงนายกฯ และประธาน กสทช. ค้านการประมูลคลื่น 900 MHz

ด่วน!! สหภาพฯ ทีโอที ยื่นหนังสือถึงนายกฯ และประธาน กสทช. ค้านการประมูลคลื่น 900 MHz

สหภาพฯ ทีโอที ยื่นหนังสือถึงนายกฯ และประธาน กสทช.ค้านประมูลคลื่น 900 MHz ให้เอดับบลิวเอ็น เพียงรายเดียว เผยเข้าใจใช้มาตรา 44 แต่ต้องแสดงความเห็นคัดค้านตามหน้าที่ เสนอ กสทช.มอบคลื่นให้ทีโอทีทำ ย้ำมีศักยภาพหาพันธมิตรทำธุรกิจ ด้าน “ฐากร” เดินหน้าประมูลแม้มีรายเดียว ยันทำตามมาตรา 44

นายอนุชิต ธูปเหลือง รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค.สหภาพฯ ได้ส่งหนังสือขอคัดค้านการนำคลื่นความถี่ 900 MHz ที่จะเปิดประมูลในวันที่ 27 พ.ค.2559 ลงชื่อ โดยนายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธานสหภาพฯ ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยมีเนื้อหา ดังนี้

ตามที่เป็นข่าวในสื่อว่า กสทช.จะจัดประมูลคลื่น 900 MHz ในวันที่ 27 พ.ค.2559 โดยมีผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมประมูล คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN)

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ขอคัดค้านการประมูลในครั้งนี้ ด้วยเหตุผลดังนี้

1.การประมูลคลื่นโดยมีผู้เข้าร่วมการประมูลรายเดียวไม่ถือว่าเป็นการประมูล และ กสทช.เองเคยมีนโยบายไม่ให้มีการประมูลคลื่นโดยมีผู้เข้าร่วมประมูลรายเดียว

2.ปัจจุบันผู้ให้บริการภาคเอกชนไม่ได้ขาดแคลนคลื่นความถี่วิทยุในการนำมาใช้ในการให้บริการโทรศัพท์มือถือ 4G ระบบ LTE อีกทั้งคลื่นประมูลความถี่ 900 MHz ในปัจจุบันยังไม่เหมาะสมสำหรับเทคโนโลยี 4G LTE เพราะมีจำนวนอุปกรณ์มือถือที่ใช้ย่านความถี่มีน้อยเมื่อเทียบกับคลื่นความถี่ในย่านความถี่อื่นๆ

การนำคลื่นออกประมูลในครั้งนี้จึงเสมือนเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการเอกชนสะสมคลื่นความถี่ อันไม่ใช่แนวทางการบริหารทรัพยากรคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ ตลาดการให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยเริ่มเป็นตลาดที่อิ่มตัว และการเข้าตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ในธุรกิจบริการโทรศัพท์มือถือ เป็นการยากที่จะแข่งขันกับผู้ให้บริการรายเดิมที่เป็นเอกชนทั้ง 3 ราย ที่ให้บริการอยู่ในขณะนี้ อันเนื่องจากต้นทุนการลงทุนเสาติดตั้งสถานีฐานที่สูงกว่าผู้ให้บริการรายเดิม

ดังนั้น เพื่อให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ๆ มีโอกาสเข้าตลาดธุรกิจโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้บริการแก่ประชาชนอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยตลาดจะไม่ถูกผูกขาดโดยเอกชน 3 ราย สหภาพฯ จึงขอเสนอทางออกให้ กสทช.เห็นชอบให้ ทีโอที นำคลื่นความถี่ 900 MHz นี้ไปประกอบกิจการโทรศัพท์มือถือไปจนกว่าจะสิ้นสุดใบอนุญาตการประกอบกิจการสื่อสารโทรคมนาคม

เพื่อให้ ทีโอที หาพันธมิตรผู้ให้บริการรายใหม่ เช่น ผู้ประกอบกิจการในประเทศมาร่วมกันให้บริการ อีกทั้งวิธีการนี้จะทำให้ ทีโอที สามารถนำอุปกรณ์ที่รับมอบจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส มาให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องกลายเป็นสินทรัพย์เสื่อมค่า และทีโอที สามารถบริหารจัดการเลขหมายที่รับมอบจากเอไอเอส เมื่อสัมปทานสิ้นสุดลงได้อย่างต่อเนื่อง

นายอนุชิต กล่าวว่า ตนเองเข้าใจว่าการประมูลครั้งนี้เป็นคำสั่งของ คสช.ภายใต้การใช้มาตรา 44 แต่สหภาพฯ ก็ต้องเคลื่อนไหวเพื่อให้เห็นว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว ขณะที่การโอนทรัพย์สินคลื่น 900 MHz ที่เดิมอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานกับเอไอเอสก็ยังไม่เรียบร้อย และสหภาพฯ ยังคงยืนยันตามเดิมว่า ทีโอทีมีศักยภาพในการนำคลื่นมาบริหารเองด้วยการหาพันธมิตรจากต่างประเทศ ซึ่งเรื่องการยื่นหนังสือครั้งนี้ ฝ่ายบริหารไม่ทราบเรื่องด้วย แต่คิดว่าน่าจะเห็นด้วยต่อแนวทางของสหภาพฯ

นอกจากนี้ สหภาพฯ ยังคงเดินหน้าตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ละเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทานแนบท้ายสัญญาที่ 6 ที่ 7 กับเอไอเอส เรื่องการปรับโครงสร้างองค์กรทีโอที ที่ต้องรอให้ฝ่ายบริหารประกาศมาก่อน หากไม่มีความเหมาะสมสหภาพฯ ก็พร้อมที่จะคัดค้าน ส่วนความคืบหน้าการเซ็นสัญญาคลื่น 2100 MHz กับเอไอเอสก็ต้องรอทางอัยการสูงสุดตอบมาก่อนว่าเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่

กสทช.เดินหน้าประมูล

ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า ขณะนี้เอดับบลิวเอ็นได้แจ้งมายัง กสทช.แล้วว่า จะส่งผู้บริหารเข้าห้องเคาะราคา จำนวน 6 คน โดยกระบวนการก็ยังเป็นไปตามเดิมคือเวลา 08.00-08.50 น. ผู้แทนผู้เข้าร่วมประมูลลงทะเบียน จากนั้น 08.55 น. เชิญผู้แทนเข้าร่วมการประมูลเตรียมตัวที่จุดกำหนดการ

จากนั้น 09.00 น. มีพิธีเปิดการประมูลคลื่นความถี่บริเวณหน้าอาคารอำนวยการชั้น 1 และเวลา 09.30 น. เริ่มการประมูลที่ชั้น 3 ห้องธารา โดยคาดว่าการประมูลจะสิ้นสุดในรอบเดียวคือ เวลา 09.50 น. ส่วนขั้นตอนต่อจากนั้น สำนักงาน กสทช.จะเสนอผลการประชุมให้แก่คณะกรรมกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เวลา 14.00 น. เพื่อรับรองผลการประมูลต่อไป

“การประมูลที่เกิดขึ้นแม้มีผู้เข้าร่วมประมูลรายเดียว แต่ทุกอย่างก็โปร่งใสตามขั้นตอน และเป็นไปตามคำสั่ง ม.44 ของ คสช. ส่วนประเด็นที่มีตัวแทนสหภาพแรงงานฯ ทีโอที ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการประมูลนั้นไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลเพราะการประมูลก่อนหน้าเมื่อเดือน ธ.ค. ทางสหภาพฯ ได้ยื่นเรื่องดังกล่าวต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งศาลฯ ไม่ได้มีคำสั่งอะไรลงมา ดังนั้น ไม่เข้าใจว่าสหภาพฯ จะเอาเรื่องที่อยู่ในขั้นตอนของศาลปกครองมาเรียกร้องอะไร”

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ www.manager.co.th, https://www.facebook.com/phattraporn.tpbs