นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า พื้นที่ทางภาคเหนือ มีการเกิดเหตุภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินที่มีสาเหตุเกิดจากภัยธรรมชาติ มีความถี่สูงขึ้น และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น จากหลายสาเหตุ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบการสื่อสารโทรคมนาคม ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ประชาชนใช้บริการอย่างกว้างขวาง ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินที่เป็นภัยธรรมชาติในพื้นที่ต่างๆ จนส่งผลให้การติดต่อสื่อสารในพื้นที่ที่ประสบเหตุเกิดความไม่ครอบคลุมของสัญญาณ ซึ่งประชาชนผู้ประสบภัย มีความต้องการใช้ในการติดต่อสื่อสารกับหน่วยงาน หรือบุคคลต่างๆ นอกพื้นที่ เพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารหรือขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ที่ผ่านมาถึงแม้ว่าจะมีหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมมือดำเนินงานช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ในกรณีภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินต่างๆ แต่พบว่าการดำเนินการดังกล่าวมีปัญหาและอุปสรรคสำคัญ ทำให้การดำเนินการไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร อาทิ แนวทางการปฏิบัติไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขาดแผนปฏิบัติที่ชัดเจน ขาดความเข้าใจในบทบาทของตนเอง อีกทั้งการประชาสัมพันธ์สื่อสารข้อมูลระหว่างหน่วยงานไม่เพียงพอ และขาดการสนับสนุนด้านนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาล เป็นต้น
ดังนั้น เพื่อให้การประสานงานระหว่างสำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และลดขั้นตอนในสภาวการณ์ที่ไม่ปกติ จึงควรมีการกำหนดการดำเนินงาน ดังนี้ คือ การกำหนดผู้ประสานงานของสำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อการประสานงานที่มีประสิทธิผลสูงสุด พร้อมรายงานแลกเปลี่ยนข้อเท็จจริงระหว่างสำนักงาน กสทช และผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด พร้อมสร้างความร่วมมือเพื่อทำให้ระบบการสื่อสารโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถใช้งานในพื้นที่ประสบเหตุ ทั้งอุปกรณ์เคลื่อนที่ หรือสำรองติดตั้งเพื่อให้มีสัญญาณโทรศัพท์ พร้อมกำหนดมาตรการควบคุมช่องทางการสื่อสารทางเสียง รวมถึงการกู้ระบบสื่อสารให้คืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
นอกจากนี้ ยังมีการวางระดับความเสียหาย และแนวทางการแก้ไข คือ ความเสียหาย ระดับที่ 1 ต้องนำรถ Mobile unit เข้าให้บริการเสริม และเพิ่มจำนวนช่องสัญญาณ ให้เพียงพอต่อความต้องการ ปรับสัดส่วนทราฟฟิคขาเข้า และขาออกให้เหมาะสม พร้อมกำหนดระยะเวลาการใช้งานในแต่ละสายสนทนาเพื่อให้ใช้งานเท่าที่จำเป็น ช่องสัญญาณการสื่อสารทางเสียงต้องเป็นหลัก และแจ้งหมายเลขเพื่อกำหนดเลขหมายที่สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา รายงานการดำเนินการกับสำนักงาน กสทช. ตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในคู่มือ ระดับที่ 2 ซ่อมแซมโครงข่ายที่เสียหาย ภายใน 24 ชม. ผู้ให้บริการต้องส่งข้อความสั้น (SMS Broadcast) ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลเลขหมายที่ใช้ในการติดต่อหรือแจ้งเตือนผลกระทบจากภัยพิบัติ ระดับที่ 3 เข้าซ่อมแซมโครงข่ายส่วนที่เสียหายให้พร้อมใช้งานโดยเร็ว ดำเนินการตามที่กำหนดในขั้นตอนที่ประสบเหตุในระดับที่ 1 และ 2 รายงานการดำเนินการกับสำนักงาน กสทช.ตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในคู่มือ และให้มีหนังสือแจ้งรายงานเหตุพร้อมการดำเนินการตามประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้อง
นายก่อกิจ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “เพื่อให้การดำเนินการของสำนักงาน กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับการเตือนภัย และการช่วยเหลือผู้ประสบภัย หลายภาคส่วนต้องให้ความร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อลดความเสียหายทั้งชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน เวลา 3- 5 นาที อาจหมายถึง 1 ชีวิต เราจะไม่เขียนแผนเป็นเล่ม แล้ววางอยู่บนโต๊ะอย่างเดียว ต่อไปนี้ เราจะย่อเหลือเพียง 2 หน้า และต้องได้ปฏิบัติ เราต้องเดินไปข้างหน้าทุกวัน” นายก่อกิจ กล่าวสรุป
Leave a Reply